น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด (กลุ่มจังหวัดได้รับเยียวยาเพิ่ม 1 เดือนในเดือน ส.ค. 64 ) และโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน ธ.ค. 64 เป็นสิ้นสุดเดือน มี.ค. 65
ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้รายงานว่าจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ซึ่งในการนี้ ครม. ให้สำนักงานประกันสังคม เร่งดำเนินการพิจารณาความเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือของภาครัฐถึงกลุ่มเป้าหมายเร็วที่สุด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม รายงานความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ว่า ณ วันที่ 16 ธ.ค.64 ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้ว 2 รอบ รวมเป็นเงิน 31,721.52 ล้านบาท และจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่ายังมีกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ประกอบด้วยนายจ้าง 5,948 แห่ง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 199,232 คน
ประกอบด้วย กลุ่มที่อยู่ระหว่างการจ่ายเงินเยียวยา อยู่ระหว่างการทบทวนสิทธิ อยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติสัมพันธ์และยืนยันข้อมูล อยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการ รวมถึงกรณีโอนเงินไม่สำเร็จ เนื่องจากบัญชีเงินฝากปิดหรือไม่ได้ผูกกับพร้อมเพย์ และมีวงเงินคงเหลือตามโครงการ ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวม 1,984.24 ล้านบาท
ส่วนโครงการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 ณ วันที่ 21 ธ.ค. 64 ได้จ่ายเงินเยียวยาแล้ว 72,015.33 ล้านบาท คิดเป็น 92.70% ของวงเงินตามโครงการ 77,785 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือผู้ประกันตนที่ยื่นอุทธรณ์/ทบทวนสิทธิ์ แยกเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 3,423 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 190,659 คน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 64)
Tags: ประกันสังคม, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, เยียวยาโควิด, ไตรศุลี ไตรสรณกุล