หมอธีระ ชี้สัปดาห์ปีใหม่นี้จะเป็นตัวกำหนดความรุนแรงโอมิครอนในไทย

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สัปดาห์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ เป็นตัวกำหนดความรุนแรงของการระบาดของโอมิครอนในไทย เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดกระจายไปแล้ว 119 ประเทศ (BNO Omicron tracker) และมีสัดส่วนของการตรวจพบในผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกทวีป (GISAID)

ประเทศต่างๆ มีสถิติการติดเชื้อใหม่รายวันสูงขึ้นกว่าทุกระลอกที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศในยุโรปอย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ รวมถึงแถบโอเชียเนีย เช่น ออสเตรเลีย

หากมองไปยาวอีก 3-6 เดือนถัดจากนี้ น่าจะมีจุดเปลี่ยนของลักษณะการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงการตอบสนองต่อการระบาดของแต่ละประเทศ

ด้วยความรู้จนถึงปัจจุบัน ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยในแง่การกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด และระดับเซลล์ เพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อ โดยช่วยลดโอกาสเจ็บป่วยรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิต

แต่ระยะเวลาผ่านไป ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด หรือแอนติบอดี้จะลดลง และจำเป็นต้องได้รับการฉีดกระตุ้นเป็นระยะ แต่จะถี่บ่อยแค่ไหนในระยะยาวคงต้องรอผลการติดตามศึกษาต่อไป

ทั้งนี้การระบาดของโอมิครอนที่ทั่วโลกรวมถึงไทยเรากำลังเผชิญอยู่นั้น ปัจจัยแวดล้อมเป็นตัวกำหนดให้มีลักษณะการตอบสนองคล้ายกันคือ

– ผู้ใหญ่ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

– นำเด็กและเยาวชนที่อายุอยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถรับวัคซีนได้ไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

– ในเด็กเล็ก ช่วงวัยที่ยังไม่มีวัคซีนที่อนุมัติให้ใช้ คงจำเป็นต้องให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองช่วยกันดูแล ป้องกันให้ดี หากโตหน่อยก็ใส่หน้ากาก ล้างมือ ดูแลที่ทางให้ระบายอากาศให้ดี สังเกตอาการ หากไม่สบายก็ตรวจรักษาโดยไม่ไปปะปนกับเด็กคนอื่นๆ

– การป้องกันตัวส่วนบุคคลยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นกิจวัตร ให้คุ้นชินจนเป็นนิสัย จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อโควิด-19 และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงที่แออัด ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

และที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะวัยเรียน วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง และลูกจ้าง คือ การหมั่นสำรวจตนเอง หากมีอาการไม่สบาย ควรหยุดเรียน หยุดงาน และรีบไปตรวจรักษาให้หายดีก่อน แล้วค่อยปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันได้

ดังนั้น แนะนำเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนส่งสาธารณะ งดตะลอนท่องเที่ยว งดปาร์ตี้สังสรรค์กันเป็นกลุ่ม ฉลองกับคนในครอบครัวในบ้านจะปลอดภัยกว่า หากทำได้พร้อมเพรียง จะช่วยลดโอกาสระบาดรุนแรงไปได้ไม่มากก็น้อย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top