สศก.คาด GDP ภาคเกษตรปี 65 โต 2-3% จับตาปัจจัยโควิด-เงินบาท/ปี 64 โต 1.5%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 65 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.0-3.0% โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตรและสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกสาขา จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการวางแผนการผลิต การแปรรูป และการตลาด

โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรของไทย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่อาจเกิดการระบาดในระลอกใหม่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตรไทย และราคาน้ำมันดิบที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นไปด้วย

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 64 พบว่า ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปี 63 โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 63 ต่อเนื่องถึงปี 64 ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช และประมง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและบำรุงรักษาที่ดี

รวมไปถึงการดำเนินนโยบาย และมาตรการของภาครัฐ อาทิ การขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การส่งเสริมอาชีพเกษตร การพักชำระหนี้ และการประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิต และบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาในแต่ละสาขาพบว่า สาขาพืช ในปี 64 ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปี 63 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 64 มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงการปลูกทดแทนพืชชนิดอื่น อาทิ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในบางพื้นที่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 2 รอบ
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาที่ดี ควบคุมและกำจัดหนอนกระทู้ได้ดีขึ้นประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
  • มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่ม มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโรงงาน ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่และทำการเพาะปลูกได้ต่อเนื่อง
  • อ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากขึ้น ทำให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอน จึงไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยมากนัก
  • สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 62-63 เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ปล่อยว่าง รวมทั้งปลูกแซมในสวนยางพารา และสวนมะพร้าวที่ปลูกใหม่
  • ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ประกอบกับต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง อีกทั้งภาครัฐยังมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง จึงจูงใจให้เกษตรกรบำรุงดูแลมากขึ้น และเพิ่มจำนวนวันกรีด
  • ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นในช่วงปลายปี 63 ประกอบกับในปี 64 มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตในช่วงกลางปีถึงปลายปี 64 มีทะลายสมบูรณ์ดี
  • ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 61 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทำให้ต้นลำไยออกดอกติดผลได้มากกว่าปีที่ผ่านมา
  • ทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 59 ทดแทนยางพารา กาแฟ เงาะ มังคุด และลองกอง โดยสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล
  • เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทำให้ต้นสมบูรณ์ ออกดอกและติดผลได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับสาขาปศุสัตว์ หดตัว 2.4% โดยผลผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญลดลง ได้แก่

  • ผลผลิตไก่เนื้อ ลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • ผลผลิตสุกร ลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับลดปริมาณการเลี้ยงสุกรจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้าน
  • ผลผลิตไข่ไก่ ลดลงจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีการปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ภายในประเทศลดลงไปด้วย

ส่วนผลผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ผลผลิตโคเนื้อ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อของรัฐบาลที่มีอย่างต่อเนื่อง
  • ผลผลิตน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาคุณภาพน้ำนมโค ส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น

สำหรับสาขาประมง หดตัว 3.0% เป็นผลจากผลผลิตประมงทะเล ในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลงเนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวน ชาวประมงนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำได้ลดลง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลผลิตที่ลดลง ได้แก่

  • กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาไม่จูงใจ ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง ประกอบกับบางพื้นที่มีการระบาดของโรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว หัวเหลือง
  • ปลานิล มีผลผลิตลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนต.ค. 64 ส่งผลให้ปลานิลบางส่วนน็อคน้ำตาย

ส่วนปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา และไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม อีกทั้งเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาด และแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง เพื่อเพิ่มอัตราการรอด

สำหรับสาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 3.7% เนื่องจากมีการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตร ในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การบำรุงดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่เพาะปลูกพืชที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน และพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน

สำหรับสาขาป่าไม้ ขยายตัว 1.5% เนื่องจากผลผลิตของไม้ยูคาลิปตัส รังนก และถ่านไม้เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ยังมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood Pellet) โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ด้านรังนกของไทยยังมีคุณภาพ และมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตลาดสิงคโปร์และจีน และถ่านไม้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

หน่วย: ร้อยละ

สาขา
ภาคเกษตร
ปี 64
1.5
ปี 65
2.0 – 3.0
พืช3.32.7 – 3.7
ปศุสัตว์-2.40.7 – 1.7
ประมง-3.00.2 – 1.2
บริการทางการเกษตร3.73.0 – 4.0
ป่าไม้1.51.5 – 2.5

ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top