กรุงศรี ชี้คลายมาตรการคุมโควิด-กระตุ้นศก.เพิ่ม หนุนจีดีพีท้ายปีฟื้นตัวถึงต้นปี 65

วิจัยกรุงศรี คาดเศรษฐกิจไทยยังได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และการตรึงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 65 ซึ่งการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64 เห็นชอบปรับระดับพื้นที่ของสถานการณ์ระบาดเหลือเพียง 3 ระดับ คือ พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 39 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 30 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด รวมทั้งยังผ่อนคลายให้มีการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ในช่วงวันสิ้นปีได้ในพื้นที่หลัก 5 จังหวัดท่องเที่ยว

นอกจากนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ยังได้พิจารณามาตรการเยียวยา และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่าย และการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มเติม เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในกลุ่มศิลปินบันเทิง โครงการคนละครึ่งเฟส 4 โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 รวมถึงมาตรการช้อปดีมีคืน ที่นำกลับมาใช้อีกครั้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดในประเทศที่บรรเทาลง สะท้อนจากการปรับยกเลิกพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ต่อเนื่องจากการยกเลิกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทยอยปรับลดลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการที่ภาครัฐจะทยอยออกเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้ นับเป็นแรงส่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปถึงต้นปีหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดจากไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนที่ยังมีความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดี ล่าสุดหลายสถาบันชั้นนำของโลกยังคงประเมินเศรษฐกิจไทยปี 65 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อาทิ ธนาคารโลก คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดไว้ที่ 4.0% ด้านวิจัยกรุงศรี คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตที่ 3.7% จากขยายตัว 1.2% ในปีนี้

สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ มาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนที่ช่วยหนุนให้ไทยและหลายๆ ประเทศสามารถเปิดประเทศได้กว้างขวางขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และผลเชิงบวกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่จะส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทยและหนุนให้เกิดวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ รวมถึงมาตรการจากภาครัฐ ที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีทิศทางปรับดีขึ้น แต่ยังคงเป็นระยะแรกของการฟื้นตัว และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะคืนกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง และประเด็นท้าทายที่อาจกดดันการฟื้นตัว อาทิ ความไม่แน่นอนของการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการกลายพันธุ์ และผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ผลข้างเคียงจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของประเทศแกนหลัก ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนและตลาดการเงิน และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศซึ่งอาจกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กลางสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการประชุมรอบสุดท้ายของปี โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top