น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ในอัตรา 15 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 200,000 บาท ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 64
โดยจะใช้เงินของ รฟท. ได้แก่ รายได้การโดยสาร รายได้การขนส่งสินค้า รายได้จากการบริหารทรัพย์สินฯ และรายได้อื่นๆ ที่หมุนเวียนเข้ามาในแต่ละเดือน ซึ่งได้ประมาณการวงเงินที่จะใช้ตามวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพรวม 1,774.99 ล้านบาท แยกเป็นปี 65 จำนวน 677.50 ล้านบาท, ปี 66 จำนวน 603.51 ล้านบาท, ปี 67 จำนวน 110.04 ล้านบาท, ปี 68 จำนวน 174.56 ล้านบาท และปี 69 จำนวน 209.38 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบการแก้ไขข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับการจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่อดีตผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2562 ที่มีการปรับอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการผู้รับบำนาญไปก่อนหน้านี้แล้ว และเพื่อเป็นการช่วยให้อดีตผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. สามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพ เป็นการแบ่งเงินบำเหน็จตกทอดบางส่วนที่จะจ่ายให้กับทายาทของผู้รับบำนาญ เมื่อผู้รับบำนาญเสียชีวิตไปแล้ว มาจ่ายให้กับผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เงินที่จะต้องจ่ายบำเหน็จดำรงชีพเป็นเงินส่วนที่ รฟท. มีพันธะจะต้องจ่ายให้อยู่แล้วมาจ่ายก่อน จึงไม่มีภาระทางการเงินเพิ่มเติม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)
Tags: บำเหน็จ, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, รฟท., รัฐวิสาหกิจ, ไตรศุลี ไตรสรณกุล