นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ส่งออกไทยปี 65 ภายใต้ปัจจัยบวก ปัจจัยลบ และปัจจัยที่ต้องติดตามต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1. กรณีถ้าโอมิครอนระบาดในโลกไม่รุนแรง ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 275,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (270,952-279,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือขยายตัว 4.8% (3.2-6.3%)
2. กรณีถ้าโอมิครอนระบาดในโลกอย่างรุนแรง ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 262,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (259,050-266,822 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือขยายตัว 0.2% (-1.3 ถึง 1.6%)
“ประเมินว่าการส่งออกไทยปี 65 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 262,533 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 13.3% (ม.ค.-ก.ย. 64) เนื่องจากปี 63 มีฐานต่ำ ขยายตัวติดลบที่ 5.9% อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกของปีนี้ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในอีก 2 เดือน คือ พ.ย.-ธ.ค. 64” นายอัทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการส่งออก หากทุกปัจจัยมีความรุนแรง จะส่งผลกระทบกับการส่งออกไทยรวมอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.3% โดยมีปัจจัยดังนี้
1. การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จากสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ที่ขณะนี้มีการแพร่ระบาดไปแล้วกว่า 90 ประเทศ ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยในช่วงไตรมาส 1-2/65 ลดลง -1% ถึง -2% (639-1279 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไตรมาส) โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และตลาดยุโรป โดยคาดว่าโอมิครอนจะระบาดหนักช่วงปลายปี 64 ถึงช่วงต้นปี 65 เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าเดลตาถึง 2-5 เท่า
2. ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ที่ลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าของประเทศต่างๆ ในโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในลักษณะ V Shape ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก และทำให้การส่งออกของไทยลดลง 0.2% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น คือ ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น อุปทานชะงักงันส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนค่า
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 65 ไทยมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่โลกมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.8% ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยผลจากเงินเฟ้อทั่วโลกนั้น จะส่งผลให้ส่งออกไทยลดลง 0.2% หรือ 593 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ จะมีเงินเฟ้อสูงมาก ซึ่งมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง
3. นโยบาย Zero Covid ของจีน อาจส่งผลให้ส่งออกของไทยลดลง -0.7% โดยผลกระทบที่ไทยจะได้รับ คือ การขนส่งที่ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านด่านต่างๆ มากขึ้น มีรถติดสะสมบริเวณด่าน ปริมาณรถเข้าออกด่านลดลงกว่าช่วงปกติ 50% และหากจีนยังใช้ Zero Covid อย่างต่อเนื่องในปี 65 อาจทำให้การส่งออกของไทยไปจีนหายไป 1,848 ล้านดอลลาร์ หรือ -4.8% ทำให้การส่งออกรวมของไทยลดลง -0.7% โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบ เช่น ผลไม้ (สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง) ยางพารา ไม้แปรรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์
4. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางสูง โดยหากในปี 65 หากยังมีปัญหาขาดแคลนตู้ อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยหายไป 8,733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออัตราการขยายตัวลดลง -3.17% จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปริมาณการส่งออก-นำเข้ามากกว่าการรองรับของท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ขาดแคลนตู้ ส่งสินค้าล่าช้า ขาดแคลนวัตถุดิบนำเข้า ค่าระวางสูงขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ประเมินว่าในปี 64 ไทยขาดแคลนตู้อยู่ที่ 3 แสนตู้ ส่วนปี 65 ไทยจะขาดแคลนตู้อยู่ที่ประมาณ 150,000 ตู้
ในขณะเดียวกัน หากในปี 65 ยังคงมีปัญหาขาดแคลนตู้ จะส่งผลให้ค่าระวางเรือตู้ 20 ฟุตอาจเพิ่มขึ้นอีก 57.2% ส่วน 40 ฟุตอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 68.7% ทั้งนี้ ค่าระวางที่จะสูงขึ้นในปี 65 นั้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 7-10% จากปี 62 โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบอันดับหนึ่ง คือ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์อโลหะ (แก้ว กระเบื้อง ซีเมนต์ คอนกรีต) และตามด้วยเครื่องดื่ม
นอกจากนี้ ค่าระวางที่จะสูงขึ้นนั้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนไปขนส่งสินค้าทางบกเพิ่มขึ้น 0.7% ทางรถไฟเพิ่มขึ้น 17.2% โดยเฉพาะรถไฟลาว-จีน ที่มีค่าขนส่งราคาถูกอยู่ที่ 3.2 บาทต่อกิโลกรัม และทางอากาศเพิ่มขึ้นที่ 0.1%
5. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นจากปี 64 โดยในปี 65 คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 ดอลลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ความต้องการสูงขึ้น จากความตึงเครียดระหว่างประเทศรัสเซีย และยูเครน และการที่โอเปกไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน
6. ปัญหาการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) จากการแพร่ระบาดของโควิดในปี 63-64 ทำให้มีการปิดโรงงาน หยุดการขนส่ง และลดแรงงาน ส่งผลให้สินค้าหลายประเภททั่วโลกลดลง ก่อให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้าเหล็ก ปิโตรเลียม ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์
ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่
1. ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าเป็นปัจจัยบวก โดยคาดการส่งออกขยายตัวได้ 3.3% หรือ 7,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี มีปัจจัยลบ คือ จะทำให้ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น ในปี 65 ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศในกลุ่ม RCEP เพิ่มขึ้นเป็น -15,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะกับประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
2. รถไฟลาว-จีน ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนลดลง 30% และการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น 1.5% หรือ 443.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน จะทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้าสู่ไทยเพิ่มขึ้นในปี 65 เท่ากับ 1.2% หรือเท่ากับ 627 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“ไทยจะขาดดุลอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะมีการดำเนินการเพิ่มเติม เช่น มีการทำฮาร์ดแวร์ หรือการทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์ขนส่ง-กระจายสินค้า คลังสินค้า การเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้าน และซอฟท์แวร์ คือ ไทยจะมีกฎกติกามารยาทเรื่องโควิดเพิ่มเติมในการตรวจสินค้าหรือไม่ หากไทยไม่ทำอะไรเลยมีโอกาสทึ่จะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยได้ดุลการค้าเรื่องผลไม้ แต่สินค้าอื่นๆ ขาดดุล และหากไม่มีการทำซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ก็มีโอกาสที่ผักผลไม้จากจีนจะเข้ามาเพิ่มขึ้น” นายอัทธ์ กล่าว
3. นโยบายการเปิด-ปิดประเทศของประเทศคู่ค้า หรือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่อาจเข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้า
4. สงครามการค้าเทคโนโลยี ค่าเงินระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ เช่น การแบนสินค้า เป็นต้น
5. ภาษีคาร์บอนตลาดยุโรปในปี 66 ซึ่งอุตสาหกรรมของไทยที่จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศฝั่งยุโรป มีเวลาเตรียมตัวเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 ปี คือในปี 65
“ผู้ประกอบการมีปัจจัยที่ต้องกังวลหลักๆ คือ 1. การแพร่ระบาดของโอมิครอนที่อาจกระทบส่งออก 2. รถไฟลาว-จีน ไทยต้องพลิกตัวเร็วกว่าปัจจุบัน เนื่องจากมาตรการซีโร่ของจีนเข้มข้นมาก ไทยต้องเจรจาสร้างความมั่นใจให้ตลาดในประเทศจีน และทั่วโลก เช่น ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ต้องมีการปรับตัว 3. ราคาสินค้าทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นภัยคุกคามหลักของไทย เพราะต้นทุนในการผลิตของไทยสูงกว่าในอาเซียนมาก ทำให้มีโอกาสที่ต่างประเทศจะไม่ซื้อสินค้าไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนาม จึงต้องมีการปรับตัวเรื่องต้นทุน และ 4. ค่าระวางที่เพิ่มความเสี่ยงว่าจะไม่มีตู้สินค้าในการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากหากมีตู้ ก็จะเลือกส่งออกสินค้าสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่าสินค้าเกษตร จึงมีโอกาสที่สินค้าเกษตรจะวางกองอยู่ในประเทศไทย” นายอัทธ์ กล่าว
ขณะที่ปัจจัยบวกต่อการส่งออก ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้ายังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 65 จะฟื้นตัวแต่คาดว่าน้อยกว่าปี 64 เนื่องจากในปี 63 ติดลบ ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกโตที่ 4.9% และ 4.5% ก่อนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล โดยผลจากความเสี่ยงที่ไม่แน่นอน อาจทำให้เศรษฐกิจโตลดลง จากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ และภาวะชะงักงันที่เกิดจากโควิด ทั้งนี้ บางสถาบันมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลก จากผลกระทบของโอมิครอนว่าอาจโตเพียง 4.4-4.6% หรือกรณีเลวร้ายอาจโตต่ำกว่า 2%
2. ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าหลายประเทศในอาเซียน และประเทศคู่ค้า โดยในปี 64 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปี 63 ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่อ่อนค่า โดยประเทศเมียนมาอ่อนค่ามากที่สุด รองลงมา คือ ลาว และไทย ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อเนื่องในปี 65 ทำให้การส่งออกไทยขยายตัว 0.01 – 0.07%
3. หลายประเทศมีการฉีดวัดซีนโควิด-19 ที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ซึ่งส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการส่งออก อย่างไรก็ดี หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม แต่การระบาดของโอมิครอนอาจทำให้วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ ขณะนี้หลายบริษัทจึงอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่
4. แนวโน้มความต้องการสินค้าสุขภาพ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่มากขึ้น เช่น สินค้าสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ และถุงมือยาง ทางการแพทย์มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มความต้องการสินค้าดังกล่าว ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพต่อประชากรโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 65 จะขยายตัวจากปี 60 ที่ 19.8%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)
Tags: ส่งออก, หอการค้าไทย, อัทธ์ พิศาลวานิช, เศรษฐกิจไทย