นพ.ธีระวัฒน์ แนะจับตา 4 ตัวแปร ทำโอมิครอนระบาดรุนแรง

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงของโอมิครอนว่า ตัวแปรมีความหลากหลาย ได้แก่

1. อาจจะขึ้นอยู่กับลักษณะของภูมิที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อธรรมชาติหรือจากวัคซีน (ซึ่งทั้งหมดป้องกันการติดโอมิครอนได้ไม่ดี แต่ช่วยลดอาการ)

ในแอฟริกาใต้เป็น 4 ระลอก และภูมิส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โดยลักษณะของไวรัสน่าจะไม่เหมือนกับในอังกฤษ โดยที่ อังกฤษยังมีเดลตาและโอมิครอน ในขณะที่แอฟริกาใต้เป็นโอมิครอน แต่ความรุนแรงจนกระทั่งถึงวันที่ 20 ธันวาคม ทั้งสองประเทศคล้ายกัน แอฟริกาใต้ยังคงไม่รุนแรง

อังกฤษ ติด 91,743 ต่อวัน (584,688 ใน 7 วัน เพิ่มขึ้น 221,006 เทียบกับ 7 วันก่อนหน้านี้) ตาย 44 (786 ใน 7 วัน ลดลง 45 รายเทียบกับเจ็ดวันก่อนหน้านี้) โอมิครอน 129 ราย ตาย 14

2. ประเทศไทยเป็น 3 ระลอกเช่นเดียวกัน และรอบ 4 จะเป็นโอมิครอน แต่ทั้งนี้รอบ 3 ของเดลตาอ่อนกำลังลงมาก ขณะนี้

ตัวแปรอยู่ที่เดลตาในประเทศไทยจะกลับรุนแรงขึ้นมาใหม่หรือไม่ และจะระบาดกับโอมิครอนที่ติดง่ายแต่รุนแรงน้อย ในขณะที่เดลตาติดยากกว่าบ้าง แต่จะแรงเหมือนเดิมหรือไม่ และทั้ง 2 จะกลายเป็นไฮบริดหรือไม่

3. แต่ไม่ว่าความรุนแรงของโอไมครอนจะน้อยกว่าเดลตาก็ตาม ยังมีปัญหาในคนเปราะบางที่อาจจะมีความรุนแรงสูง และเข้ามาครองเตียงในโรงพยาบาล และถ้ามีการแพร่ในโรงพยาบาล จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นแบบเดิมกับที่เจอในเดลตา

4. โอมิครอนถึงแม้อาการอาจไม่รุนแรง แต่จะเกิดอาการแทรกซ้อนระยะยาวที่เรียกว่า Long covid ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางสมอง จิตอารมณ์ กล้ามเนื้อ และระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งหัวใจ แบบเดียวกับที่มีปัญหาทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top