พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง จะหยุดให้บริการชั่วคราวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.64 – 4 ม.ค.65 เป็นเวลา 7 วัน และเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 5 ม.ค.65 เป็นต้นไป โดยในช่วงวันดังกล่าว ประชาชนสามารถเลือกสถานที่รับวัคซีนได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 6 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง
สำหรับข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนสะสมในพื้นที่ กทม. หน่วยฉีดทุกสังกัด จากฐานข้อมูล MOPH Immunization Center กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค. 64 เวลา 16.00 น. ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-15 ธ.ค. 64 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 9,200,433 ราย คิดเป็น 119.50% ผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 8,203,841 ราย คิดเป็น 106.55% และมีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 3 จำนวน 1,281,413 ราย คิดเป็น 16.64% จากจำนวนประชากรใน กทม. จำนวน 7,699,174 ราย ซึ่งพบว่ามีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเข็มที่ 2
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทั้งการจัดส่งเจ้าหน้าที่ชุด CCRT เดินเท้าเข้าไปให้บริการฉีดวัคซีนถึงบ้านหรือชุมชน การจัดรถบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ให้บริการในจุดต่างๆ ที่ประชาชนไม่สะดวกเดินทางมายังจุดบริการวัคซีน
รวมถึงการเพิ่มความสะดวกในการลงทะเบียนขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” ซึ่งให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกสัญชาติ ประกอบด้วย เข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดใดก็ตามมาแล้ว 1 เข็ม จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม ตามกำหนดของชนิดวัคซีนเข็มแรก และเข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือตามที่ได้รับการจัดสรร รวมถึงเข็มกระตุ้นหลังติดเชื้อ สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายแล้ว 3 เดือนขึ้นไป
ในส่วนของผู้ที่ลงทะเบียนรับวัคซีนของกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ QueQ สามารถเลือกสถานที่ฉีดวัคซีน ดังนี้
1. ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
2. โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลตากสิน, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์, โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์, โรงพยาบาลสิรินธร, โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน, โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร
3. ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร เขตจอมทอง, ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน เขตบางเขน, ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด – ทองคำ บำเพ็ญ เขตดุสิต, ศูนย์บริการสาธารณสุข 40 บางแค เขตบางแค และศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา
ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการเพิ่มจุดให้บริการวัคซีนเพิ่มเติม จากโรงพยาบาลสังกัดอื่นในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชน เช่น Thai PBS เป็นต้น โดยใช้ระบบการจองรับวัคซีนจากส่วนกลางของกทม. เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 64)
Tags: COVID-19, ฉีดวัคซีน, ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์, ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19, โควิด-19