นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แอพพลิเคชันทางรัฐ ได้ดำเนินการภายใต้ แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) ขณะนี้อยู่ใน “ระยะที่ 2 หรือ ระยะเติมเต็ม” คือ การขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นกว่าในระยะที่ 1 โดยจากด้าน “สิทธิและสวัสดิการ”จะขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงด้าน “งานบริการยอดนิยม” อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีรถยนต์ การขอป้ายทะเบียน และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร
แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมการให้บริการของภาครัฐที่สำคัญไว้เป็นแหล่งเดียวผ่านสมาร์ทโฟน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ครอบคลุมการค้นหาข้อมูลและรับบริการภาครัฐ การยื่นคำขอ จองคิว ตรวจสอบสิทธิ ร้องเรียน ชำระเงิน ตลอดจนบริการข้อมูลและคำปรึกษา โดยปัจจุบันครอบคลุมการให้บริการกว่า 45 รายการแล้ว เช่น การตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลเครดิตบูโร สิทธิหลักประกันสุขภาพ และบริการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ
ทั้งนี้ แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะเริ่มต้น (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564) การให้บริการจะครอบคลุมเกี่ยวกับ “สิทธิและสวัสดิการ” เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด สิทธิประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ลงทะเบียนทาบัตรประจาตัวคนพิการ เงินเบี้ยความพิการ
- ระยะเติมเต็ม (ปีงบประมาณ พ.ศ.2565) การให้บริการจะขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมถึงเรื่อง “งานบริการยอดนิยม” รวมทั้งสิ้น 60 บริการ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีรถยนต์ ขอป้ายทะเบียนรถ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร
- ระยะต่อยอด (ปีงบประมาณ พ.ศ.2566) การให้บริการจะขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้นอีก ครอบคลุมถึงเรื่อง “งานบริการเฉพาะทาง” ได้แก่ การเงินและภาษี การเดินทาง ความมั่นคงปลอดภัย ที่อยู่อาศัยและที่ดิน การทำงาน การเกษตร การศึกษา สิทธิพลเมือง ทะเบียนราษฎร สิ่งแวดล้อม สิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 60 รายการ เช่น การแจ้งเกิด ข้อมูลทางด่วนแก้หนี้ การขอเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเกษตร การหางานสำหรับคนพิการ การจองเลขทะเบียนรถยนต์ และการขอความช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นดังกล่าว และเน้นย้ำถึงการรับฟังเสียงของประชาชนในการรับบริการภาครัฐประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการขาดการบูรณาทางข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ การต้องเตรียมหรือรวบรวมเอกสารจำนวนมาก และการไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือสวัสดิการที่ตนเองพึงได้รับ และเพื่อเป็นการพัฒนาการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างสูงสุดอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อยู่ระหว่างการจัดทำและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง)แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. 2566-2570 จะครอบคลุม 6 ด้าน ประกอบด้วย การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ การเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้โดยประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อวางแผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการและประโยชน์ของประชาชนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 64)
Tags: ทางรัฐ, รัชดา ธนาดิเรก, แอพพลิเคชัน