ภาครัฐ-เอกชน จับมือหนุนเกษตรกรผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามบันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ว่า จากแนวนโยบายการส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล กระทรวงพลังงาน ได้ขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง ปัจจุบันได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว 43 โครงการ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล 16 โครงการ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 27 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 149.50 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งและตอบสนองต่อนโยบายด้านพลังงานในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคงจากการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังเล็งเห็นความสำคัญในการนำพลังงานทดแทนไปใช้ในภาคความร้อน เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาผันผวน อันตอบสนองการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรให้มีการลงทุนติดตั้งระบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ ชีวมวลอัดเม็ด และการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลดังกล่าวได้

“กระทรวงพลังงานมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาพลังงานในระดับพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ซึ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตพลังงานทั้งไฟฟ้าและความร้อนจากวัตถุดิบพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ภายในประเทศ เช่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม้โตเร็ว และพืชพลังงาน ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ.2050 อีกด้วย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนจะต้องมีการกำหนดปริมาณ เป้าหมาย และ Zoning ให้สอดคล้องกับศักยภาพ และการจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินการต่อไป

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การร่วมลงนามในวันนี้ เน้นความสำคัญในการส่งเสริมการเพิ่มรายได้และสร้างทางเลือกให้เกษตรกร จากเดิมปลูกพืชที่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนที่ต่ำ มาเป็นการปลูกพืชพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมของพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงส่งเสริมให้มีการรวบรวมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการนำแผนการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย “Energy For All” มาเป็นกลไกสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเกษตรกร รวมทั้งใช้ประกอบในการคาดการณ์ปริมาณความต้องการไม้เศรษฐกิจโตเร็วและพืชพลังงานทดแทนเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าให้มีปริมาณที่เพียงพอและสม่ำเสมอ

“กระทรวงเกษตรฯ และทุกหน่วยงานตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกร โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ และชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตามนโยบายในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีความสมดุล ทั้งการลดการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชทางเลือกที่ในพื้นที่เหมาะสม และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งแน่นอนว่า พืชพลังงานทดแทน เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกร โดยมีโรงไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่แน่นอนที่จะร่วมผลักดันประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ต่อไป” นายเฉลิมชัย กล่าว

การดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้ได้ต้นแบบในการพัฒนาและสามารถนำไปสู่การขยายผลในระยะต่อไปโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรตาม Agri-Map

ขณะที่กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา และบริหารจัดการพลังงาน จัดทำแผนส่งเสริมและข้อมูลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงานเพื่อผลิตพลังงานความร้อนเพิ่มเติม ข้อมูลความต้องการและวัตถุดิบจากพืชพลังงานในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกจากผลผลิต และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าเชิงเศรษฐกิจ สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่มีศักยภาพเพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่แหล่งผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน สนับสนุนกล้าไม้ การวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไม้เศรษฐกิจโตเร็ว

และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะร่วมประสานนโยบายและดำเนินการร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและพัฒนา รวมถึงศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมเกษตรและโรงไฟฟ้าจากพืชพลังงาน สนับสนุนการวิจัย อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตร และแหล่งผลิตไฟฟ้า และพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน โดยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมถึงให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top