นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลประกาศให้การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม
จึงมีนโยบายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เร่งพัฒนาผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีโอกาสเติบโตในช่วงที่วิถีชีวิตของคนทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมผลักดันโอกาสในด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ ช่องทางการตลาด รวมทั้งนำนวัตกรรมมาต่อยอดของเหลือใช้ หรือ ธุรกิจที่ลดใช้ทรัพยากร – พลังงาน มีมูลค่าบนช่องทางการค้าที่มากขึ้น โดยดีพร้อมได้ทำการศึกษาตลาดอุตสาหกรรม BCG MODEL ซึ่งพบว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้น มีมูลค่ารวม 114,876 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 98,006 ล้านบาท หรือเติบโต 17.21% (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน : BOI)
นอกจากนี้ BCG MODEL ยังเป็นส่วนสนับสนุนให้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น เกษตรและอาหารแปรรูป การท่องเที่ยวและบริการ หรืออุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นายเจตนิพิฐ กล่าวว่า เพื่อขานรับกับมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้ดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Creative Value Design in Circular Economy Fashion & Lifestyles ขึ้น เพื่อส่งเสริมการนำความคิดสร้างสรรค์ วัตกรรม และการออกแบบมาใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และผลักดันการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้าน “อัพไซคลิ่ง (Upcycing)” ซึ่งเป็นแนวทางการแปรรูป – ผสมผสานการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่(Recycle) สิ่งเหลือใช้จากการผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมไปถึงวัสดุเหลือใช้จากการอุปโภคและบริโภคในท้องถิ่น และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ให้กลายเป็นสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม
โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Creative Value Design in Circular Economy Fashion & Lifestyles เป็นโครงการที่ ดีพร้อม และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มีความตั้งใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิด BCG MODEL ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และบางประเด็นทางเศรษฐกิจ – สังคม ที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เช่น ปัญหาของขยะพลาสติก ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาของเหลือใช้ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
โดยโครงการนี้จะคัดเลือกกลุ่ม SMEs นิติบุคคล หรือบุคลากร เช่น ทายาทธุรกิจ พนักงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมเกษตร – อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ มาร่วมบ่มเพาะกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากของเหลือใช้ปรับให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักในท้องตลาด สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ เช่น การอยู่อาศัย การบริโภค การทำงาน การนันทนาการ ฯลฯ รวมถึงปั้นผู้นำเทรนด์ (TrendSetter) ในด้านการออกแบบที่คำนึงถึงอรรถประโยชน์และสิ่งแวดล้อมในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 50 ราย
อย่างไรก็ดี ดีพร้อมได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ได้ดำเนินโครงการ Upcycling for sustainable Lifestyle ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 52 กิจการ ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากการนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด วัสดุเหลือใช้ทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม วัสดุรีไซเคิล และวัสดุในท้องถิ่น นำมาออกแบบ พัฒนา และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ โดยสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียในกิจการละ 5,000 – 300,000 บาทต่อปี และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่สูงถึง 30 ล้านบาทต่อปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 64)
Tags: BCG Model, PTTGC, กสอ., คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ดีพร้อม, เจตนิพิฐ รอดภัย, เศรษฐกิจสีเขียว, เศรษฐกิจหมุนเวียน, โมเดลเศรษฐกิจ, โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ