UTA เตรียมทบทวนเฟสแรกโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯหลังโควิดทำดีมานด์เปลี่ยน

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้บริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยประมาณการไว้ หรืออุปสงค์เปลี่ยนไป เพราะปัจจุบันสนามบินภายในประเทศก็มีมากพอที่จะรองรับได้

ดังนั้น ทาง UTA ก็อยู่ระหว่างทบทวนโครงการในเฟสแรกที่เตรียมการจะสร้างอาคารผู้โดยสารรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน มูลค่าการลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท โดยต้องตอบโจทย์ว่าสร้างอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า ต้องดูทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลายด้วย

อย่างไรก็ตาม UTA ก็จะคงแผนเดิมที่จะเริ่มงานก่อสร้างในปี 65 ซึ่งก็อยู่ระหว่างรอหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) เพราะยังต้องสร้างเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และสร้างให้มีความพร้อมในระดับหนึ่ง ซึ่งจะต้องตอบโจทย์ที่เป็นแหล่งดึงดูด Taffic ในภูมิภาคนี้

“ถ้าอีอีซีไม่มีสนามบินจะเชื่อมโยงสร้างเศรษฐกิจได้ยาก บริษัทฯ เรารับภารกิจต่อจากผู้ถือหุ้นที่ร่วมประมูลเข้ามาบริหาร เมื่อวันนี้โควิดไม่จบแต่เราก็ต้องเดินหน้าต่อ ประเทศไทยต้องมีอีอีซี อีอีซีต้องมีสนามบินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราก็ยืนยันเดินตามแผน แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่กระทบแน่ๆ คือตัวเลขปริมาณผู้โดยสาร จากวันที่ประมูลเคยประเมินไว้อย่างไร วันนี้ก็คงต้องปรับ แต่คงต้องรอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ นับเป็นสถานการณ์ที่ท้าทาย เราต้องปรับตัวในลักษณะของการลงทุน ให้บรรลุผลและสอดคล้องกับดีมานด์ที่เปลี่ยนไป คงต้องหารือกับทางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าสนามบินที่สร้างมาแล้ว จะเป็นศูนย์กลางการบินอย่างที่อยากให้เป็นไทยเป็นฮับภูมิภาค”

นายวีรวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ไทยเป็นฮับของภูมิภาคในทางภูมิศาสตร์ ความต้องการเดินทางด้านการบินก็ยังอยู่กับคน เทคโนโลยี ความมั่งคั่งของคนยังมี คนจะเข้าถึงบริการด้านการบินได้ง่ายต้องมีราคาที่ถูกลงและสะดวกขึ้น แต่ไทยไม่ได้มีการบินในประเทศสูงเท่าจีน อินเดีย หรือสหรัฐ แต่เมื่อเราอยู่ในภูมิภาคนี้ ตลาดเหล่านี้ที่เล็กๆ พอกับไทยก็เป็นโอกาสที่จะมาใช้บริการเรา เรามีจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางภูมิประเทศ ดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุน เมื่อการท่องเที่ยวยังเกิด สายการบินก็ต้องมา และเป็นโอกาสที่จะทำให้เราสร้างเป็นฮับ ไทยหนีไม่พ้น เป็นทางบังคับที่เราต้องไปทางนี้

โดยอู่ตะเภาก็เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ให้คนที่พร้อมเข้ามาลงทุน หรือใช้บริการ จุดแข็งของเราไม่ได้ดึงดูดแค่สายการบิน แต่จะดึงดูดนักลงทุนได้ ด้วยวัฒนธรรมที่เรามีทำให้นักลงทุนยังต้องการเดินทางมา

“สิ่งที่เราต้องทำตัวที่จะเปลี่ยนช้าที่สุดคือ Infrastructure ที่เราต้องเตรียม เป็นเรื่องที่สำคัญเราลงทุนไปแล้วต้องตอบโจทย์ให้ศตวรรษถัดไป เทคโนโลยีต้องรองรับในอีก 10 – 15 ปีข้างหน้า อนาคตเครื่องบินอาจไม่มีนักบินก็ได้ เป็นเรื่องที่ Infrastructure ยากที่จะประเมิน เป็นโจทย์ที่ต้องคิดให้รอบคอบ เราจะทำยังไงให้คนมาแล้วรู้สึกปลอดภัย คุ้มค่า ครบถ้วน แอพพลิเคชั่น เราก็มองว่าคงจะเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้ามาร่วมกันได้ เป็นโจทย์ที่สุดท้ายเทคโนโลยีคงจะเชื่อมโยงกันได้ จองเครื่องบิน สนามบิน ท่องเที่ยว คงจะเชื่อมโยงกันได้หมด เรากังวลแค่ว่าลงทุนขนาดไหนที่จะไม่มากเกินไป เพราะโลกกำลังเปลี่ยน เป็นโจทย์ที่เราต้องประเมิน”

นายวีรวัฒน์ กล่าว

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มบีบีเอส (BBS) ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ถือหุ้นในสัดส่วน 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือสัดส่วน 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือสัดส่วน 20% โดยทั้งโครงการจะรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปี มี 4 เฟส คาดเริ่มเปิดให้บริการในปี 68 บนพื้นที่ 6,500 ไร่ โดยเฟสแรก จะใช้เงินลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top