ตลท.เผยผลเฮียริ่งขานรับปรับมาตรการกำกับฯหุ้นเก็งกำไรสูง-ตลาดร้อนแรงไร้ปัจจัยรองรับ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย ที่ได้รับจากผู้ให้ความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ระหว่าง วันที่ 1 – 12 พฤศจิกายน 2564 และจากการรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่ม (Focus Group) กับบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีผู้ให้ความคิดเห็นรวม 228 ราย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ 66 ราย, บริษัทจดทะเบียน 73 ราย, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 4 ราย, ผู้ลงทุนทั่วไป 83 ราย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) โดยสรุปรายละเอียด ดังนี้

  • การปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย หรือห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย

ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยตามหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผลว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรมีมาตรการดำเนินการกับหลักทรัพย์ที่มีภาวะเก็งกำไรสูง หรือสภาพการซื้อขายร้อนแรง โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับอย่างเข้มงวดและรวดเร็ว โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

ควรแจ้งผู้ลงทุนให้เร็วขึ้นก่อนใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย หรือมี Application เพื่อแจ้งเตือนผู้ลงทุนให้ทราบล่วงหน้าและได้มีเวลาเตรียมตัว, ควรเพิ่มมาตรการสำหรับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำ และมี Market Capitalization ขนาดใหญ่ซึ่งมีผลกระทบต่อดัชนีหลักทรัพย์(SET Index) มากกว่าหลักทรัพย์ขนาดเล็ก, ควรเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย และให้ดำเนินการกับหลักทรัพย์ที่ราคาปรับลดลงมากด้วย, ส่งเสริมและให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน เพื่อแก้ปัญหาการลงทุนที่ไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้ความเห็นที่เป็นผู้ลงทุนบางรายเห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด เนื่องจากมาตรการกำกับการซื้อขายอาจส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่เข้ามาซื้อขายตามปกติ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาวะการซื้อขายที่ผิดปกตินั้น

  • ด้านการดำเนินมาตรการเร็วขึ้น โดยรวบมาตรการระดับ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน และให้เริ่มมาตรการระดับ 1 ด้วยการให้ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance และห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย

ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยตามหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผลว่า ภาวะการเก็งกำไรสูงในปัจจุบันเกิดจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่มีเงินสดเพียงพอที่จะซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดเล็กที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย ดังนั้น การห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย อาจไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการ และไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

อาจห้าม Net Settlement และหยุดพักการซื้อขายตั้งแต่มาตรการระดับ 1 เพื่อให้มีความกระชับและรวดเร็วในการสกัดภาวะร้อนแรง, ควรขยายระยะเวลาสิ้นสุดของมาตรการแต่ละระดับให้นานขึ้น, ควรมีการจำกัดวงเงินในบัญชี Cash Balance ที่จะใช้ซื้อหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย, อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย (Commission) หลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายให้สูงกว่าปกติหรือปรับลด Ceiling & Floor

อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้ความเห็นที่เป็นผู้ลงทุนบางราย ไม่เห็นด้วย โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลเช่นเดียวกับข้อ 1 กล่าวคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด และเห็นว่ามาตรการเดิมเพียงพอและเหมาะสมแล้ว

  • การเพิ่มการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 วันทำการ เป็นมาตรการระดับ 3

ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยตามหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผลว่า การห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว 1 วัน มีความเท่าเทียมกัน และจะช่วยลดความร้อนแรงของการซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ทำให้มีเวลาพิจารณาทบทวนก่อนตัดสินใจลงทุน นอกจากนั้นยังเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศอื่น ๆ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

ควรประสานงานมิให้กระทบต่อการประเมินด้านการก กับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ของบริษัทจดทะเบียน, ควรสื่อสารและทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าเป็นมาตรการกำกับการซื้อขาย โดยมิได้เกิดจากบริษัทจดทะเบียนฝ่าฝืน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย, ควรห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวในมาตรการทุกระดับโดยแต่ละระดับอาจหยุดพักการซื้อขายไม่เท่ากัน, ควรห้ามซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่า 1 วัน โดยอาจกำหนดตามระดับความร้อนแรง

ขณะที่มีผู้ให้ความเห็นที่เป็นผู้ลงทุนบางรายไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า มาตราการดังกล่าวอาจไม่สามารถทำให้ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์กลับสู่ภาวะปกติได้ และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกห้ามซื้อขาย รวมทั้งอาจเป็นการริดรอนสิทธิของผู้ลงทุนที่เข้ามาซื้อขายปกติ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาวะการซื้อขายที่ผิดปกตินั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top