ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟปะทุ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา และหลาย ๆ ครั้งก็ยากจะหลบเลี่ยงหรือรับมือได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเฝ้าระวังว่ากิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์นั้นส่งผลอย่างไรต่อแนวโน้มความถี่และความรุนแรงของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้
ด้วยปี 2564 ที่จะสิ้นสุดลงในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ In Focus ในสัปดาห์นี้จึงจะมาพาผู้อ่านย้อนรำลึกถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติตลอดทั้งปีนี้ เพื่อถอดบทเรียนจากความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้น
พายุถล่มสหรัฐอ่วมตั้งแต่ต้นปีถึงท้ายปี
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุพายุทอร์นาโดหลายสิบลูกพัดเข้าถล่มแถบมิดเวสต์ของสหรัฐ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย และก่อความเสียหายที่ยังประเมินค่ามิได้ในพื้นที่ 6 รัฐ โดยสื่อรายงานว่า รัฐเคนตักกีมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ทั้งยังมีรายงานความเสียหายรุนแรงที่โกดังสินค้าของบริษัทแอมะซอน รวมถึงมีประชาชนจำนวนมากติดอยู่ในซากปรักหักพัง
แต่เหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ไม่ใช่ความเสียหายจากพายุครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวที่สหรัฐต้องเผชิญในปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ชายฝั่งรัฐหลุยเซียนาถูกพายุเฮอริเคน “ไอดา” พัดขึ้นถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน ก่อนที่จะถูกเฮอร์ริเคน “นิโคลัส” ถล่มซ้ำเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ซึ่งสองเหตุการณ์นี้ได้สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนก.พ. สหรัฐยังได้เผชิญกับพายุฤดูหนาวที่พัดถล่มพื้นที่ทางตอนใต้และเขตมิดเวสต์ โดยเฉพาะในรัฐเท็กซัสที่ประชาชนนับหลายล้านคนต่างก็ได้รับผลกระทบจากภัยหนาวและการขาดไฟฟ้าใช้ ทั้งยังส่งผลกระทบถึงบริษัทผลิตรถยนต์ เช่น เจเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด มอเตอร์ และโตโยต้า มอเตอร์ ที่ต้องระงับการผลิตในโรงงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคกลางของสหรัฐ เนื่องจากเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องและพนักงานไม่สามารถเดินทางมาทำงานที่โรงงานได้เนื่องจากติดพายุหิมะ
ภูเขาไฟปะทุในอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. เกิดเหตุภูเขาไฟเซเมรูปะทุขึ้นในจังหวัดชวาของอินโดนีเซีย ส่งให้มีผู้เสียชีวิต 43 ราย และบาดเจ็บ 108 ราย ขณะที่สูญหาย 22 ราย นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจำนวน 6,500 ราย และบ้านเรือนเสียหายจำนวน 3,000 หลัง
ท่ามกลางความเสียหายที่เกิดขึ้น ภาพของภูเขาไฟที่ยังคงพ่นเถ้าถ่านออกมาก็ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้คนจำนวนมากพากันไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อถ่ายรูปเซลฟี่ จนทำให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอินโดนีเซียต้องออกมาประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณภูเขาไฟ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุภูเขาไฟปะทุอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ตามแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) รอบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยนอกจากเหตุการณ์ปะทุของภูเขาไฟเซเมรูแล้ว เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ก็ยังมีรายงานภูเขาไฟเมอราปีที่ปะทุขึ้น 3 รอบ ส่งผลให้กลุ่มควันและเถ้าถ่านลอยปกคลุมพื้นที่ในรัศมี 3 กม.
แผ่นดินไหวเฮติคร่าชีวิตคนหลายพัน
เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ส.ค. เกิดเหตุแผ่นดินไหว 7.2 แมกนิจูดที่ประเทศเฮติ โดยคณะแพทย์นานาชาติ (International Medical Corps) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อย 2,248 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 12,763 คน
สำนักข่าวซินหัวเปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นหนึ่งในเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของเฮติ ซึ่งสร้างความเสียหายให้บ้านเรือนและอาคารหลายแห่ง และส่งผลให้ระบบดูแลสุขภาพของโรงพยาบาลของเฮติล่มสลาย
ยุโรปอพยพอลหม่าน หลังไฟป่าลามต่อเนื่อง
ในช่วงเดือนสิงหาคม ยุโรปมักมีรายงานไฟป่าตามฤดูกาลอยู่บ่อยครั้งเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ European Forest Fire Information System ซึ่งทำหน้าที่เก็บสถิติเกี่ยวกับไฟป่า พบว่าในปี 2564 นั้นไฟป่าลุกลามกินพื้นที่ของประเทศในยุโรปมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 55% ซึ่งสำนักข่าว DW ของเยอรมนีอธิบายว่า มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอุณหภูมิในทวีปยุโรปในเดือนก.ค. ที่สูงเกือบเป็นประวัติการณ์
ภัยพิบัติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประเทศในยุโรปหลายแห่ง เช่น กรีซ ที่มีรายงานว่าไฟป่าลุกลามถึงชานกรุงเอเธนส์ จนส่งผลให้ต้องมีการอพยพประชาชนหลายพันคน ขณะที่หน่วยงานบริหารท้องถิ่นของจังหวัดวาร์ในฝรั่งเศส ก็ต้องสั่งอพยพประชาชนหลายพันคนออกจากพื้นที่เช่นกัน หลังเกิดเหตุไฟป่าครอบคลุมพื้นที่เกือบ 37,500 ไร่
อุทกภัยในเยอรมนีส่งผลดับเกือบ 200 ราย
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. สื่อได้รายงานเหตุน้ำท่วมหนักในเมืองบอนน์ทางตะวันตกของเยอรมนี หลังเกิดฝนตกหนักที่แม่น้ำอาร์ (Ahr) ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำไรน์ ทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงจนล้นท่วมพื้นที่ และเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดของเยอรมนีในรอบเกือบ 6 ทศวรรษ
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ไฟฟ้าและทางหลวงถูกตัดขาด บ้านเรือนได้รับความเสียหาย โดยรัฐนอร์ธไรน์-เวสต์ฟาเลียและไรน์ลันท์-พาลาติเนท ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 170 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก
นางอังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีผู้ยังทำหน้าที่ในตำแหน่ง ณ ขณะนั้น ได้กล่าวถึงเหตุอุทกภัยครั้งนี้ว่า “น่าหวาดกลัว” อย่างยิ่ง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รีบหาทางจัดการกับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนด้วย หลังบรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ระบุมานานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วม
จีนน้ำท่วมหนัก หลังฝนตกหนักที่สุดในรอบสหัสวรรษ
ในช่วงใกล้เคียงกับที่เยอรมนีต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ จีนเองก็ได้ประสบกับภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสัปดาห์ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยเป็นภาวะฝนตกหนักที่สุดที่วัดได้ในรอบสหัสวรรษ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในมณฑลเหอหนานของจีน ซึ่งได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน ประชาชนจำนวนมากต้องไร้ที่อยู่ รวมถึงทำให้ทางการจีนต้องเร่งอพยพผู้คนเรือนแสนออกจากพื้นที่มณฑลเหอหนานและบริเวณใกล้เคียง
เหตุการณ์ “ฝนพันปี” ดังกล่าว เป็นเพียงหนึ่งในภาวะฝนตกหนักและอุทกภัยที่จีนเผชิญมาตลอดทั้งปี โดยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. กระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉินของจีนเปิดเผยว่า จีนเผชิญฝนตกหนักถึง 39 ครั้งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและน้ำท่วมขังถนน โดยเฉพาะในมณฑลเหอหนานและมณฑลซานซี
หลายฝ่ายมองว่า เหตุการณ์ “ภัยธรรมชาติ” ที่รุนแรงอย่างผิดธรรมชาติในปีนี้ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และด้วยการประชุมสุดยอด COP26 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 พ.ย. โดยที่หลายประเทศยังไม่ได้ประกาศการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน ประเด็นนี้จึงกลายมาเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ สิ่งที่เราทำได้ในฐานะปัจเจกบุคคล นอกจากการใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้มากแล้ว ก็ยังรวมถึงการร่วมด้วยช่วยกันผลักดันนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความหวังที่ว่าปัญหาโลกร้อนนั้นยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 64)
Tags: จีน, พายุ, ภัยธรรมชาติ, ภูเขาไฟระเบิด, อินโดนีเซีย, อุทกภัย, เยอรมนี, เฮติ, แผ่นดินไหว, ไฟป่า