ครม.เคาะเกณฑ์กำหนดลักษณะค่าธรรมเนียม-ค่าบริการ สร้างความชัดเจน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะของค่าธรรมเนียม และจำแนกค่าธรรมเนียมออกจากค่าบริการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน กำหนดหลักการพื้นฐานว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้และกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ในกฎหมาย กำหนดปัจจัยและกระบวนการที่หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมาย หรือกฎที่มีการกำหนดค่าธรรมเนียม ต้องแก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินการใดๆที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์นี้

สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ลักษณะของค่าธรรมเนียมและจำแนกค่าธรรมเนียมออกจากค่าบริการเพื่อให้เกิดความชัดเจนมีดังนี้ “ค่าธรรมเนียม” จะเป็นกรณีที่รัฐจะใช้อำนาจทางปกครองฝ่ายเดียวในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อควบคุมหรือกำกับดูแลในเรื่องต่างๆให้เป็นไปด้วยดี โดยกำหนดให้ประชาชนจะต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต จากรัฐก่อนที่จะดำเนินการบางอย่างได้ ซึ่งรัฐอาจกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามอัตราที่กฎหมายกำหนดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการดำเนินการให้บุคคลนั้น หากไม่จ่าย หน่วยงานจะไม่ดำเนินการให้ จึงมีลักษณะทำนองเดียวกับภาษี เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

ส่วน “ค่าบริการ” เป็นกรณีที่รัฐจะให้บริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการในทำนองเดียวกับธุรกิจเอกชน การเรียกเก็บค่าบริการนี้มีลักษณะคล้ายกับค่าบริการของเอกชนเพื่อตอบแทนสินค้าและบริการที่ได้ ซึ่งหากไม่ต้องการจะได้สินค้าหรือบริการนั้น ก็ไม่ต้องเสียค่าบริการ โดยผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่จะใช้บริการภาครัฐหรือใช้บริการที่มีการดำเนินการโดยบุคคลอื่นก็ได้ รวมถึงการบริการในทำนองเดียวกัน เช่น การให้บริการถ่ายเอกสาร การให้บริการห้องสมุด การให้บริการทางด่วนหรือทางพิเศษ การให้บริการจอดรถในที่จอดรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไว้ดังนี้คือ

  1. ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดของรัฐต้องไม่สูงเกินสมควรโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตหรือการให้บริการต่อหน่วย และเทียบเคียงกับอัตราที่เรียกเก็บกันในนานาประเทศ
  2. ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดของรัฐต้องไม่สูงหรือต่ำเกินสมควร โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตหรือการให้บริการต่อหน่วย และ
  3. ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันโดยเสรีในตลาด ต้องไม่ต่ำเกินสมควรที่อาจกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า เว้นแต่รัฐมีอำนาจแทรกแซงในเรื่องนั้นเพื่อรักษาราคาที่เหมาะสมในตลาด ทั้งนี้ค่าบริการไม่พึงกำหนดไว้ในกฎหมาย และต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรสูงสุดดังเช่นเอกชน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top