ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเทศกาลปีใหม่คนกรุงใช้จ่ายเพิ่ม 7% สะพัดกว่า 3 หมื่นลบ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 รวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% (YoY) (กรณีไม่มีการระบาดรุนแรงเพิ่มเติม) จากปีก่อนหน้าที่ภาพรวมการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ที่หดตัวประมาณ 4.4% (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย

ในช่วงปีใหม่ปี 65 นี้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกออกไปใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้นตามการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและการเร่งทำแคมเปญกระตุ้นยอดขาย ลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง Omicron ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค

โดยประมาณการมูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 รายประเภทกิจกรรม มีรายละเอียดดังนี้
  1. การเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม มีเม็ดเงินมากที่สุดอยู่ที่ 10,750 ล้านบาท
  2. ช็อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ 8,100 ล้านบาท
  3. เดินทางในประเทศ ค่าเดินทาง ที่พัก 7,800 ล้านบาท
  4. ค่าบริการ กิจกรรมสันทนาการ 1,900 ล้านบาท
  5. ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ 1,350 ล้านบาท
  6. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ให้เงินครอบครัว มอบบัตรของขวัญ อยู่ที่ 600 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะใช้จ่ายช่วงปีใหม่ปี 65 และออกไปเลี้ยงสังสรรค์นอกบ้านมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนการช็อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น

การผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีผลให้ประชาชนเลือกไปสังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง มีแผนจะสังสรรค์ที่ร้านอาหารในช่วงปลายปี ซึ่งมาตรการดูแลความสะอาดของร้านและการเข้ารับวัคซีนของพนักงานที่ให้บริการเป็นปัจจัยหลักในการเลือกใช้บริการ

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารและเครื่องดื่มปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,000 บาทต่อคนในปีที่แล้ว เป็น 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากปีที่แล้วที่ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อวัตถุดิบมาปรุงเองหรือสั่งซื้ออาหารมารับประทานที่บ้าน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเลี้ยงสังสรรค์ รับประทานอาหารโดยรวมขยายตัวได้จากฐานที่ต่ำในปีก่อน

สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าและของขวัญในช่วงส่งท้ายปี 64 น่าจะฟื้นตัวจากภาวะหดตัวในปีก่อนที่ประชาชนปรับลดงบประมาณการช็อปปิ้ง โดยค่าใช้จ่ายช็อปปิ้งซื้อสินค้าภาพรวมในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลหลักจากการขยายเวลาเปิดร้านค้าและห้างสรรพสินค้า ประกอบกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเร่งจัดแคมเปญการตลาด โปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 70% ของกลุ่มตัวอย่าง มีแผนจะซื้อสินค้าด้วยงบประมาณเท่าเดิมหรือมากกว่าปีก่อน และมากกว่า 20% คิดว่าจะใช้จ่ายมากขึ้น หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกในช่วงที่เหลือของปีจนถึงต้นปี 65

แต่ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่ายส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็น และอาหารเครื่องดื่ม รองลงมาเป็น กลุ่มสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใหม่สำหรับเทศกาลปีใหม่ ในขณะที่กลุ่มกระเช้าของขวัญก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากแคมเปญส่งเสริมการขาย เช่น การจัดผ่อนชำระดอกเบี้ย 0% รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นทำให้มีการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวหรือจัดงานเลี้ยงปีใหม่มากขึ้น

ในส่วนของช่องทางการซื้อสินค้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง E-marketplace Social Commerce และ Brand Website เนื่องจากมีโปรโมชั่นส่วนลดบ่อยครั้งและมีความสะดวกในการจัดส่งถึงบ้าน แต่ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 1 ใน 3 มีแผนที่จะไปเลือกซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าและ Hypermarket เพื่อทำกิจกรรมนอกบ้านด้วยในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นจะหนุนการใช้จ่ายเทศกาลปีใหม่ 65 แต่ธุรกิจยังมีความท้าทายด้านกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการยังต้องเน้นการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายและโปรโมชั่นลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย ควบคู่ไปกับการวางแผนชะลอค่าใช้จ่ายและการลงทุนออกไปก่อน และเน้นเพิ่มสภาพคล่อง เช่น การขายวอยเชอร์ล่วงหน้า การจัดชุดสินค้าราคาพิเศษ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ในระยะนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top