ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนจากตปท.แล้ว 8 ราย รอยืนยันอีก 3, จับตากลายพันธุ์

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. – 10 ธ.ค. 64 ทั้งหมด 4,797 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา 4,777 ราย คิดเป็น 99.58% เป็นสายพันธุ์อัลฟา 8 ราย คิดเป็น 0.17% เป็นสายพันธุ์เบตา 1 ราย คิดเป็น 0.02% และเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 11 ราย คิดเป็น 0.23% ซึ่งใน 11 รายนี้ยืนยันด้วยการตรวจจีโนมของไวรัสแบบครบทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) แล้ว 8 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

“ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่พบไฮบริดระหว่างเดลตา และโอมิครอน ตัวอย่างในอดีตที่เคยมีการระบาดของอัลฟา และเบตาจำนวนมากก็ยังไม่พบไฮบริด ในส่วนของการกลายพันธุ์ ไม่มีใครที่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ทั้งนี้ เชื่อว่าวิธีตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ของไทยมากพอที่จะตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดไฮบริดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสูตรสำเร็จจะต้องอันตราย หรือแพร่ระบาดเร็วขึ้นเสมอไป แต่บนความไม่ประมาทก็จะยังมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง” 
นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับสายพันธุ์ของโอมิครอนสายพันธุ์ BA1 และ BA2 ขณะนี้ประเทศไทยยังพบเพียงสายพันธุ์หลัก BA1 เท่านั้น และยังไม่มีข้อมูลว่าการกลายพันธุ์ไปเป็น BA2 จะส่งผลให้เชื้อมีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าหากเชื้อเข้ามาในประเทศ ก็ยังสามารถตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้ ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นเชื้อที่ไม่รุนแรงมาก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมที่แพร่ระบาดอยู่ขณะนี้

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า ขณะนี้พบการระบาดทั้งหมด 69 ประเทศ โดยมี 20 ประเทศ พบรายงานการติดเชื้อโอมิครอนในผู้ที่ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ภาพรวมแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิต ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังคงพบการระบาดในชุมชน สถานประกอบการ ตลาด แคมป์คนงาน และโรงเรียน อย่างไรก็ตาม พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศรูปแบบ Test & Go มากขึ้น โดยเริ่มตรวจพบการติดเชื้อหลัง Day 0 ทำให้ต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจำนวนมาก

ดังนั้น เสนอให้โรงแรม SHA+ สแกน QR-Code ในแอปพลิเคชันหมอชนะจากผู้เดินทางทุกราย รวมทั้งเร่งจัดทำระบบติดตามผู้เดินทางแบบ Test & Go และแจ้งข้อมูลกับทีมสอบสวนโรค เพื่อลดเวลาการติดตามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (HRC) โดยให้แจ้งสถานพยาบาลคู่ปฏิบัติการ เร่งส่งตัวอย่าง เพื่อตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนทันทีที่พบผู้เดินทางที่ติดเชื้อทุกราย

นอกจากนี้ ยังเน้นกำกับติดตามมาตรการ VUCA เพื่อเตรียมพร้อมรับช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะร้านอาหารที่ให้ดื่มสุราภายในร้าน เน้นมาตรการ Universal Prevention โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก และการสื่อสารให้คนไทย และชาวต่างชาติเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go และ Sandbox เพื่อลดการติดเชื้อ และการกลับมารักษาในประเทศ

“สถานการณ์การระบาดของโควิดในบ้านเราถือว่าเป็นขาลง จำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับเกณฑ์ในการจัดให้โรคโควิด-19 เป็นเชื้อประจำถิ่นนั้น ขณะนี้นักวิชาการอยู่ระหว่างการ cut point ว่าระดับไหนที่จะให้การติดเชื้อโควิดเป็นเชื้อประจำถิ่น” 
นพ.วิชาญ กล่าว

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ว่า ขณะนี้ยืนยันแล้วมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน 8 ราย และอีก 3 ราย มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหากตรวจกลุ่มนี้อย่างละเอียดแล้ว ผลยืนยันก็จะเป็นเชื้อโอมิครอน โดยทั้ง 8 รายที่พบในประเทศไทยมาจากต่างประเทศทั้งหมด ยังไม่มีการพบการแพร่ระบาดในประเทศไทย

“สุดท้ายโดยธรรมชาติก็จะมีการระบาดในประเทศ เพราะมีบางประเทศที่พบมีการระบาดในประเทศแล้ว เพราะโรคระบาดมีการปิดกั้นลำบาก เมื่อเจอจากนอกประเทศก็จะต้องเจอในประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่เจอในขณะนี้” 
นายสาธิต กล่าว

ส่วนกรณีการกลายพันธุ์หากสายพันธุ์โอมิครอนรวมกับสายพันธุ์เดลตานั้น นายสาธิต กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลเรื่องการกลายพันธุ์ เพราะปัจจุบันเชื้อโอมิครอนยังไม่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง ยังสามารถควบคุมได้ เพราะเรามีมาตรการที่เข้มข้น แต่หากมีอาการรุนแรง หรือสัดส่วนคนติดเชื้อสูงก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เยอะที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นห่วงอะไร แต่ให้ระมัดระวังไม่ให้การ์ดตก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top