เพื่อไทย เปิด 7 นโยบายหาเสียงกทม., ยังไม่เคาะส่งคนชิงเก้าอี้ผู้ว่า กทม.

นายพชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหาร และคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้พรรคฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครลงแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือจะสนับสนุนผู้สมัครอิสระรายใด แต่พรรคฯ จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ครบทั้ง 50 เขต โดยได้ลงพื้นที่และทำงานกันอย่างหนักมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาว กทม.ให้เป็นตัวแทนในการเข้าไปพัฒนา กทม.ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับนโยบายในการหาเสียงของ ส.ก.จะชูนโยบาย 7 ประการ ที่จะให้ประชาชนใน กทม.เลือกผู้สมัครของพรรคฯ เข้าไปช่วยพัฒนา กทม.โดยอยากเห็น กทม.เป็นเมืองในอนาคตในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1. “กทม. เมืองแห่งโอกาส” โดยพรรคฯ ต้องการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายการใช้ที่ดินของ กทม. และ ที่ดินของ นสล. ที่รวมถึงที่ดินของกรมธนารักษ์ เพื่อให้ประชาชนได้เปิดพี้นที่ในการพัฒนาสร้างที่ทำมาหากินเช่น ตลาด, Street Food และ bazaar ระดับโลก โดยเฉพาะประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่อง Street Food มาก ดังนั้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบ Street Food ควรได้รับการพัฒนาให้มีชื่อเสียงกว่า Street Food ของประเทศสิงคโปร์ พร้อมทั้งการกระจายอาคารจอดรถเพื่ออำนวยความสะดวก พร้อมที่จอดและที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งสร้าง Techology Space กระจายตามเขตต่างๆ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เสนอ digital solution เพื่อเขตของตนเอง โดยมีงบ กทม.สนับสนุน พร้อม crowd funding ที่ไม่ต้องผ่านระบบราชการ แต่ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างโอกาส เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นกับชาว กทม.

2. “กทม. มหานครดิจิทัล” โดยจะพัฒนา กทม.เป็นต้นแบบ เป็นนโยบายเมืองมหานครของพรรคฯ เพื่อลดต้นทุนการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนและคืนกลับให้ประชาชน ด้วยโครงสร้างถนน และทางเท้าเทศบาลที่ดีขึ้น การบริการที่รวดเร็ว และไม่ซับซ้อน รวมถึงระบบ สาธารณสุข และ โรงเรียนในเครือข่ายของ กทม. การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอเกิน 30 นาที โรงเรียนที่มีคุณภาพ ไม่มีรถติดหน้าโรงเรียนสร้างความเดือนร้อนกับผู้เดินทาง โดยการเปลี่ยนและพัฒนาแพลตฟอร์ม และทุกแพลตฟอร์มจะพัฒนาจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณแบบเดิมๆ หรือพัฒนาจากการยัดเยียด โดยจะเป็นแนวทางและรูปแบบในการพัฒนาทุกจังหวัดทั้งประเทศในอนาคต

3. “กทม. ระบบขนส่งของ คน กทม.” พรรคฯ เสนอให้เจรจาปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนและทางด่วนทั้งหมดต้องกลับมาเป็นของ กทม. ค่าเดินทางต้องไม่เกิน 40 บาททั้งสาย รถโดยสารประจำทางต้องราคาเดียวไม่เกิน 10 บาท รถเมล์รุ่นเก่าที่ปล่อยมลภาวะต้องหมดไป ค่าโดยสาร รถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดิน ต้องราคาเดียว 30 บาทต่อสายของแต่ละสี สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเขตของ กทม. ทั้งหมด

4. “กทม. คอนเน็ค” กทม.จะต้องให้บริการอินเตอร์เน็ตในบริเวณเมือง ป้ายรถเมล์ ที่จอดรถแท็กซี่ ตลาด สถานที่สาธารณะ และสถานีรถไฟฟ้า รถไฟลอยฟ้า และรถใต้ดินต้องฟรีและรวดเร็ว

5. “กทม.เมืองฟ้าใส ไร้ฝุ่น” เริ่มจากตัวเมืองชั้นในต้องจำกัดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นโดยกำหนดไว้ต้องภายใน 10 ปี รถยนต์ของราชการต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นภายใน 4 ปี รถประจำทางต้องเป็นรถพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น โดยต้องเริ่มทำทันที ทั้งนี้รถก่อสร้างขนาดใหญ่ จะเข้า กทม.ได้เฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้น และต้องเป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายใน 15 ปี

6. “กทม. เมืองของประชาชน” มุ่งความโปร่งใสอับดับหนึ่ง สร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณในพื้นที่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสามารถตรวจสอบผ่านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้

7. “กทม. ดุ จับ ปรับ สะอาด” โครงการแบบ “ตาวิเศษ” ต้องนำกลับมาใหม่ผ่านระบบดิจิทัล จับ ปรับ คนทิ้งขยะ และทำความสกปรกแก่เมือง สร้าง ecosystem สำหรับเมืองสะอาด และกำจัดสิ่งของและขยะที่สร้างความสกปรกให้กับ ถนน คลอง เพื่อเป็นเมืองฟ้าอมร อีกทั้งส่งเสริมการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Bio-degradable) เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการลดคาร์บอน (decarbonization) ซึ่งจะเป็นทิศทางของโลกด้วย

นายพชร กล่าวว่า เป็นแนวทางนโยบายเบื้องต้น 7 ประการเท่านั้น โดยยึดหลัก “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ที่เป็นหลักคิดของพรรคเพื่อไทยมาตลอด ซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจจะมีแนวทางเสนอแนะออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่า แนวทางการพัฒนา กทม. จะเป็นแนวทางในการพัฒนาทุกจังหวัดทั้งประเทศในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกได้ โดยหากผู้สมัครผู้ว่า กทม. คนใดสามารถนำไปทำได้จะเป็นประโยชน์กับ กทม. อย่างมาก โดยพรรคฯ จะเสนอแนวทางนี้ผ่าน ส.ก.ทั้ง 50 เขตที่พรรคฯ ส่งลงสมัคร และอยากขอให้ชาว กทม.ให้โอกาสพรรคเพื่อไทย โดยเลือกผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคฯ ทั้ง 50 เขต เพื่อนำแนวนโยบายไปปรับใช้ในการพัฒนา กทม.ให้เป็นเมืองระดับ World Class ให้ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top