นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานในงาน “Kick off กัญชาริมฝั่งโขง” ที่ถนนสวรรค์ชายโขง หมู่บ้าน 8 ชนเผ่า อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบการเชื่อมโยงระหว่างกัญชาทางการแพทย์ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น ถือเป็นอีกโมเดลเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชกัญชา ผู้ผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ทุกกระทรวงเร่งหาแนวทางที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมพืชสมุนไพร ทั้งกัญชา กัญชง กระท่อม โดยให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คิดค้นนโยบายเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างงานอาชีพให้ประชาชนทั้งในฐานะผู้ปลูก ผู้ผลิตสินค้า สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์การแพทย์ทางเลือกในการรักษาโรค
ทั้งนี้ ผลจากนโยบายและการผลักดันที่จริงจัง ทำให้ขณะนี้ในโรงพยาบาลหลักๆ ทั่วประเทศ มีคลีนิคกัญชาที่ให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง สารสกัดจากพืชกัญชาสามารถรักษาบรรเทาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ได้ และขณะนี้หน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งวิจัยพัฒนาเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งกัญชา กัญชง เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนโดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป
“จากเดิมต้องแอบใช้ แต่ต่อไป หากประชาชนใช้อย่างถูกวิธี เพื่อดูแลสุขภาพ ภายใต้กฎระเบียบที่สาธารณสุขขกำหนด ก็สามารถใช้กัญชาได้ถูกกฎหมาย” นายอนุทิน ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นกรมการแพทย์แผนไทยฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันพืชสมุนไพรกัญชา กัญชง มาได้ระดับหนึ่ง โดยปลดล็อกออกจากยาเสพติดควบคุมประเภทที่ 5 โดยต้น กิ่งก้าน ใบ ราก ของกัญชาจะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป และ ประมวลกฎหมายยาเสพติด เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ในกฎหมายฉบับใหม่นี้จะไม่มีกัญชาและกัญชงเป็นพืชที่ผิดกฎหมายแล้ว
โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศรายชื่อบัญชียาเสพติดฉบับใหม่ทั้ง 5 ประเภท ซึ่งจะไม่มีกัญชาอยู่ในนั้น กำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มีค่าทีเอสซีเกินกว่า 0.2% เท่านั้นจึงจะเป็นยาเสพติด แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมัน สารสกัด ผลิตภัณฑ์สบู่ เครื่องสำอาง อาหารเสริมที่มีค่าทีเอสซีต่ำกว่า 0.2% สามารถใช้ได้ทั้งหมด และนี่ไม่ใช่มาตรฐานที่สาธารณสุขหรือประเทศไทยกำหนดขึ้นมาเอง แต่องค์การอนามัยโลกก็กำหนดด้วย
“ที่เราผลักดันได้ไปก่อนหน้านี้ เราบอกว่าเฉพาะต้น ราก ใบ กิ่ง ก้านเท่านั้นไม่ใช่ยาเสพติด แต่จากนี้ไป ตั้งแต่ปี 2565 เราจะผลักดันให้ทั้ง ต้น ราก กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ช่อดอก เมล็ด จะต้องไม่อยู่ในบัญชียาเสพติดอีกต่อไปด้วยนี่คือสิ่งที่น่ายินดีที่เราต่อสู้ให้มันสำเร็จ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากโควิด-19 แบบนี้ เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ประชาชนต้องเร่งทำมาหากิน ถ้าเราไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นทางเลือก คนก็จะแย่งกันทำอะไรที่เหมือนๆ กัน แต่ถ้าเรามีทางเลือกให้ เขาจะพัฒนาต่อยอดขึ้นมาเองเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ เป็นทางเลือกที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์กัญชาให้มากที่สุด โดยได้ให้นโยบาย อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักดูแลการอนุญาตปลูก รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาให้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาขออนุญาตอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ฝากให้ทาง อสม. ไปแจ้งให้พี่น้องประชาชนในชุมชนได้ทราบว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งมีคลินิกกัญชา เป็นการแพทย์แผนไทยทางเลือกในการดูแลประชาชน และหลังจากนี้ ยาที่ผลิตออกมาจากสารสกัดกัญชาจะนำมาใช้อย่างถูกต้อง อยู่ในบัญชียาหลักให้ประชาชนเข้าได้ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 64)
Tags: กัญชา, อนุทิน ชาญวีรกูล