นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดวันนี้จากผลการตรวจหาโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ด้วยวิธี SNP (Single nucleotide polymorphisms) หรือการตรวจตำแหน่งกลายพันธุ์เฉพาะจุด พบชายไทยอายุ 41 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ของ UN ที่เดินทางมาจากประเทศคองโก มีโอกาสติดเชื้อโอมิครอนอีก 1 ราย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยันด้วยวิธี (Whole Genome Sequencing) หรือการตรวจจีโนมของไวรัสแบบครบทั้งตัวอีกครั้ง
ขณะที่ผลตรวจยืนยันด้วยวิธี WGS ของหญิงไทย 2 รายที่เดินทางมากจากประเทศไนจีเรียก่อนหน้านี้ ยืนยันแล้วว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศทั้งหมด 3 ราย
โดยข้อมูลตรวจหาสายพันธุ์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ของกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศ และกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ ด้วยวิธี SNP ทั้งหมด 1,649 ราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา 1,641 ราย
ส่วนแนวทางในการตรวจคัดกรองโอมิครอน ถึงแม้ทั่วโลกรายงานพบการกลายพันธุ์ของโอมิครอน โดยโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยนั้นยีนจะไม่หายไป ซึ่งมีความกังวลว่าอาจสร้างความสับสนในการตรวจหาเชื้อ เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมนั้นมียีนบางตัวหายไป ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มการตรวจยีนอีก 2 ตำแหน่ง เป็นตรวจหายีนทั้งหมด 4 ตำแหน่ง เพื่อความแม่นยำในการตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จะตรวจทั้งหมด 4 ตำแหน่ง คือ del 69-70 (เอลฟา), K417N (เบตา), T478K และ N501Y ส่วนผู้ที่อยู่ในประเทศ จะเริ่มจากการตรวจตำแหน่ง L452R (เดลตา) ก่อน หากไม่พบจะตรวจตำแหน่ง del 69-70 และ K417N เพิ่มเติม
“ขณะนี้ยังสามารถตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน ที่ถึงแม้มีการกลายพันธุ์ได้อยู่ ยกเว้นอนาคตมีการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ ก็จะต้องมีการศึกษาอีกครั้ง ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ก็ยังสามารถตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี และอาจต้องมีการตรวจซ้ำ เพราะหากเชื้อน้อยก็จะตรวจไม่พบ ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะเชื้อจะไปทั่วโลกอยู่แล้ว และจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรง ส่วนที่ไฟเซอร์ออกมาระบุว่า โอมิครอนสามารถหลบภูมิได้ 40 เท่า มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 6 รายเท่านั้น จึงอาจไม่มีนัยสำคัญมากเท่าไร”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โอมิครอน