MILL ตั้งเป้ารายได้ปี 65 โต 2 หมื่นลบ. รับดีมานด์-ราคาเหล็กสูง, ศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ

นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 จะเติบโตแตะ 20,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่ทำได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มความต้องการ (ดีมานด์) และราคาเหล็กยังอยู่ในระดับสูง โดยมองแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนที่มีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกเลิกนโยบายคืนภาษีส่งออก (Tax rebate) ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าปริมาณยอดขายเหล็กปีหน้ารวมอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน โดยประเมินว่าความต้องการเหล็กในไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีนี้ โดยคาดจะมีความต้องการใช้รวมกันกว่า 18-19 ล้านตัน ตามการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูประโภคของประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดจะมียอดผลิตรถยนต์ในปีหน้าเป็น 1.8 ล้านคัน จากปีนี้ที่ทำได้ราว 1.6 ล้านคัน

ขณะที่ในส่วนของเงินลงทุน บริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติม หลังจากเชื่อว่าปัจจุบันมีแพลตฟอร์มทุกอย่างเกือบหมดแล้ว โดยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้จะเน้นการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและปรับปรุงประสิทธิภาพของต้นทุนการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการงวดไตรมาส 4/64 คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ยอมรับว่ายังคงมองหาโอกาสในการร่วมทุนกันพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในทุกด้าน โดยจะยังคงมุ่งเน้นในธุรกิจในวงโคจรของบริษัท หากมีความชัดเจนจะรายงานให้ทราบอีกครั้งภายหลัง

ด้านนายทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ MILL (MILL ถือหุ้น 26%) กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม อย่างน้อย 1 โครงการ กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าหากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้า (PPA) ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลด้วย ซึ่งน่าจะเห็นรายละเอียดชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐได้ราวปี 65

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้เตรียมความพร้อม โดยมีแผนรับเชื้อเพลิงที่ผลิตจากบริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด (บริษัทลูกของ MILL) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ารวม 60 เมกะวัตต์ จากโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูปท็อป

นายศุภมงคล มาโนช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นลูกของ MILL กล่าวว่า บริษัทฯ จะรับหน้าที่ป้อนเชื้อเพลิงพลังงาน ให้แก่ เดอะ เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ MILL เป็นรายแรก จากนั้นจะป้อนให้กับบริษัทอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามแหล่งผลิตเชื้อเพลิงพลังงาน ส่วนใหญ่จะมาจากขยะที่เกิดจากภายในบริษัท มิลล์คอน ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณขยะอุตสาหกรรม 150-250 ตัน/วัน อีกทั้งในพื้นที่ที่โรงงานเหล็กตั้งอยู่ก็มีโรงงานอุตสาหกรรมอีกมาก เชื่อว่าจะรองรับปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงพลังงาน ในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมของ เดอะ เมกะวัตต์ ได้

พร้อมกันนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน จากเดิมที่บริษัทดำเนินธุรกิจบริหารจัดการเศษเหล็กและซื้อขายเศษเหล็ก โดยเป้าหมายหลัก คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยบริษัทต้องการจะเป็นศูนย์กลาง carbon credit ของกลุ่มบริษัทในเครือมิลล์คอน สตีล นอกจากนี้ต้องมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Decarbonization

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจเดิมของบริษัทในการบริหารจัดการเศษเหล็ก บริษัทนำเทคโนโลยีของเครื่องจักรมาใช้บริหารจัดการเศษเหล็ก สามารถบดย่อยเศษเหล็กให้มีขนาดเล็กลง ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการหลอม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นการประหยัดพลังงานในการหลอม (Recycle Process) เหล็กที่ได้จะถูกปรุงแต่งให้มีความบริสุทธิ์ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง สำหรับชิ้นส่วนอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง ที่ถูกคัดแยกสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถลดขยะที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามหลัก Zero waste ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสิทธิชัย กล่าวว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มมิลล์คอนในปี 65 บริษัทยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเหล็ก และต่อยอดไปในธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม-ลดโลกร้อน ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก และที่ผ่านมากลุ่ม MILL ได้มีการปรับตัวและให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่คือการเป็น Green Steel ในที่สุด นอกจากการผลิตเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปริมาณของเสียแล้ว บริษัทยังมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค กระทั่งถึงขั้นตอนการนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

“ปัจจุบันแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ Circular Economy เป็นทิศทางที่ผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว เช่น การคัดแยกเหล็กและยางรถยนต์ โดยนำเศษเหล็กไปผลิตเหล็กเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนยางก็สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้ ลดการสูญเสีย และสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ เป็นต้น”นายสิทธิชัย กล่าว

กระบวนการผลิตของบริษัทฯ ได้มีการรองรับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และพร้อมที่จะเดินไปสู่การเป็น Green Steel เต็มรูปแบบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top