ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์คล้ายทุน 1.8 หมื่นลบ. CPF ที่ A- แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่ระดับ “A+” รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้ง ยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทในวงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วย โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 2 ระดับ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะการด้อยสิทธิและผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ได้

โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ครั้งนี้จำนวนไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาทไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนชุดเดิม และเงินที่ได้จากหุ้นกู้สำรองเพื่อการขายเพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 3 พันล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจทั่วไป และ/หรือเพื่อการขยายธุรกิจ และ/หรือชำระคืนหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ และ/หรือบริษัทในกลุ่มซีพีเอฟ

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทยตลอดจนการมีฐานการผลิตในหลายประเทศรวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะที่ผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทรวมทั้งความเสี่ยงจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าสินค้า และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเป็นระยะเวลานาน

ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เป็นผลมาจากราคาสุกรที่ลดลงอย่างรุนแรงในหลายประเทศตลอดจนการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตลอดจนมาตรการล็อคดาวน์ก็ส่งผลลบต่อกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทและส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลง 26.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 4.7 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ลดลงเป็น 12.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 จาก 14.1% ในปี 2563

จากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง และการขยายงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับหนี้เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาก อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4.2 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.8 แสนล้านบาทในปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6.3 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 4.5 เท่าในปี 2563

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้ของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากแผนการลงทุนจำนวนมากของบริษัท เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้แจ้งความประสงค์ในการนำหุ้นสามัญทั้งหมดของ C.P. Pokphand Co., Ltd. ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และโครงการหุ้นทุนซื้อคืนของบริษัท ซึ่งทั้งสองรายการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาทและ 1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะขายหุ้นบางส่วนของ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินจากธุรกรรมนี้ประมาณ 3.4 พันล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6.7-7.2 เท่าในปี 2564-2566

ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยซึ่งไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าอยู่ที่จำนวน 4.4 แสนล้านบาท โดยประมาณ 80% เป็นหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาว ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาทซึ่งคาดว่าแหล่งที่มาของเงินสดเพื่อการชำระหนี้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทเป็นหลัก ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2564-2566 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.7-4.0 หมื่นล้านต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องจำนวนมากจากเงินสดในมือจำนวนประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งด้วย

ตามข้อกำหนดทางการเงินของตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ให้ต่ำกว่า 2 เท่านั้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.3 เท่าซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการปี 2564-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเอาไว้ได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการมีผลิตภัณฑ์ และตลาดที่มีความหลากหลายของบริษัทจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของสินค้าทางการเกษตรที่มีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และความเสี่ยงจากโรคระบาดได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างเงินทุนให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและแสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนทางการเงินที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดอย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงเกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top