In Focus: เหลียวหลังดูเศรษฐกิจโลกปีวัว สหรัฐหนี้ท่วม-โอมิครอนเขย่าตลาด

“The International Monetary Fund is likely to lower its global economic growth estimates due to the new Omicron variant of the coronavirus. The new variant that may spread very rapidly can dent confidence, and in that sense, we are likely to see some downgrades of our October projections for global growth,” IMF Managing Director Kristalina Georgieva warned at the Reuters Next conference.

“กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และด้วยสถานการณ์ดังกล่าว เราจึงอาจจะปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจากที่เคยคาดไว้ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา”

… คำเตือนของนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF ที่ประกาศกลางที่ประชุม Reuters Next เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ทำเอานักลงทุนทั่วโลกขวัญกระเจิงกันถ้วนหน้า เพราะสัญญาณอันตรายของไวรัสโอมิครอนทำเอาทุกภาคส่วนแทบหมดหวังที่จะลืมตาอ้าปากหลังจากที่บอบช้ำอย่างแสนสาหัสอยู่แล้วจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน, ค้าปลีก และธุรกิจบริการที่พัก

ตลาดวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อบริษัทจัดเรตติ้งอย่างฟิทช์และมูดี้ส์ออกรายงานเตือนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงถูกกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน, เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปัญหาขาดแคลนแรงงาน … ตามด้วยนายเจอโรม พาวเวล หัวเรือใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ออกมาสมทบว่า “ไวรัสโอมิครอนจะส่งผลให้การจ้างงานและเศรษฐกิจของสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้จะทำให้ประชาชนไม่เต็มใจที่จะกลับไปทำงานในออฟฟิศ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานชะลอตัวลง และยิ่งทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานทวีความรุนแรงมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี กระแสความตื่นตระหนกในเรื่องนี้เริ่มทุเลาลงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เมื่อนายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำทำเนียบขาวได้กล่าวกับสื่อหลายสำนักว่า นับจนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง สอดคล้องกับรายงานเบื้องต้นของสภาวิจัยด้านการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ซึ่งระบุว่า ไวรัสโอมิครอนทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย และยังไม่มีรายงานบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิต

การแสดงความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างนายแพทย์เฟาชีช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นแข็งแกร่งติดต่อกัน 2 วันทำการ และพยุงตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวในแดนบวกตามมา

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่านักลงทุนไม่ควรชะล่าใจ และอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไวรัสโอมิครอนมีความเสี่ยงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ โดยอ้างหลักฐานจากผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ระบุว่า ไวรัสโอมิครอนสามารถแพร่ระบาดจากคนคนหนึ่งที่กักตัวอยู่ในโรงแรม ไปยังคนอีกคนหนึ่งที่พักอยู่ห้องตรงข้าม แม้ว่าทั้งสองคนไม่ได้ออกจากห้องและไม่ได้สัมผัสติดต่อกัน นอกจากนี้ ไวรัสโอมิครอนซึ่งมีการกลายพันธุ์จำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในส่วนของโปรตีนหนาม (Spike Protein) ยังอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เลวร้ายลง และส่งผลกระทบต่อความพยายามในการเปิดเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก

… นี่คือภาพปัจจุบันในเดือนสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและการจับจ่ายใช้สอยในหลายเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และต่อเนื่องถึงเทศกาลตรุษจีนที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า … In Focus สัปดาห์นี้ขอพาท่านผู้อ่านย้อนรอยสถานการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี 2564 เพื่อดูว่าพวกเราผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรกันมาบ้าง

** ไตรมาสแรก: เปิดศักราชปีวัวด้วยความโกลาหล

เดือนมกราคมมักเป็นเดือนที่ทุกคนยกให้เป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอาจเป็นเดือนที่ตกต่ำที่สุดและลากเอาชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาพลอยด่างพร้อยไปด้วย เมื่อม็อบผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้ายึดอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคมเพื่อขัดขวางการประกาศรับรองชัยชนะของโจ ไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เหตุการณ์ดังกล่าวบั่นทอนความศรัทธาและสร้างความปั่นป่วนในตลาดหุ้นอย่างมาก … และแน่นอนว่าทรัมป์ถูกพิพากษาทันทีว่าเป็นผู้ปลุกระดมมวลชนครั้งนี้

คล้อยหลังเหตุการณ์จลาจลได้ไม่นาน ทวิตเตอร์สั่งปิดบัญชีทวิตเตอร์ @realDonaldTrump ชั่วนิรันดร์ ฐานเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย การก่อจลาจลครั้งนี้ยังสร้างแรงกระเพื่อมเป็นไฟลามทุ่ง เนื่องจากบริษัทอเมริกันหลายแห่ง เช่น เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ไมโครซอฟท์, ซิสโก้ และเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) เรียงแถวออกมาประกาศยุติสนับสนุนบรรดานักการเมืองที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของสภาคองเกรสในการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ประวัติศาสตร์วอลล์สตรีทต้องจารึกปรากฏการณ์แห่ซื้อหุ้น “GameStop” ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายวิดีโอเกมชื่อดังในสหรัฐ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนรายย่อยในห้อง WallStreetBets เล็งเป้าหมายที่จะผลักดันราคาหุ้น GameStop ให้สูงขึ้นเพื่อกดดันให้เฮดจ์ฟันด์ต้องกลับเข้าซื้อคืนหุ้นดังกล่าวเพื่อตัดขาดทุน หลังจากที่ได้ขายชอร์ตก่อนหน้านี้ โดยเก็งว่า GameStop จะต้องปิดกิจการในไม่ช้า …ว่ากันว่า แมงเม่าวอลล์สตรีทรวมพลังกันครั้งนี้เพื่อสั่งสอนกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ที่มักเก็งกำไรด้วยการขายชอร์ตในตลาด

การพุ่งขึ้นของราคาหุ้น GameStop ส่งผลให้เฮดจ์ฟันด์ภาวะขาดทุนอย่างหนัก โดยคาดว่าสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ แต่ต่อมาราคาหุ้น GameStop ดิ่งลงอย่างหนัก ซึ่งทำให้นักลงทุนรายย่อยที่ถอนตัวออกมาไม่ทัน ประสบภาวะขาดทุนเช่นกัน

เดือนมีนาคม แมงเม่าวอลล์สตรีทเปิดศึกเฮดจ์ฟันด์รอบใหม่ ด้วยการดันราคาโลหะเงินจนพุ่งขึ้นเหนือระดับ 30 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี แต่หลังจากนั้นไม่นาน Chicago Mercantile Exchange (CME) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาฟิวเจอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศขึ้นอัตรา maintenance margin เพื่อสกัดการปั่นราคาของกลุ่มนักลงทุนรายย่อยในตลาด ส่งผลให้นักลงทุนเหล่านี้ยอมรามือและเลิกปั่นราคาโลหะเงินในที่สุด

กระทั่งช่วงท้ายของเดือนมีนาคม ทั่วโลกตกตะลึงกับข่าวเรือ Ever Given ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้เกยตื้นกีดขวางเส้นทางสัญจรในคลองสุเอซของประเทศอียิปต์ ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลกต้องหยุดชะงัก

วารสาร Lloyd’s List ซึ่งเป็นวารสารที่ให้ข้อมูลด้านการขนส่งทางทะเลระบุว่า เหตุการณ์เรือ Ever Given เกยตื้นกีดขวางเส้นทางสัญจรในคลองสุเอซนั้น ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นมูลค่าราว 9.6 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน โดยเรือ Ever Given มีความยาวเกือบ 400 เมตร กว้าง 59 เมตร และเป็นหนึ่งในเรือขนส่งสินค้าลำใหญ่ที่สุดในโลกที่สามารถจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 20,000 ตู้ในแต่ละเที่ยว … อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มีนาคม ทุกฝ่ายต่างโล่งใจเมื่อปฏิบัติการกู้เรือ Ever Given ประสบความสำเร็จ และทำให้การสัญจรในคลองสุเอซได้กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

** ไตรมาส 2: วิกฤต “อาร์เคกอส แคปิตอล” ป่วนตลาดหุ้นโลก

ชื่อของบริษัทอาร์เคกอส แคปิตอล (Archegos Capital) ปรากฏบนสื่อกระแสหลักทุกสำนักทันทีที่ธนาคารเครดิตสวิส และโนมูระ แถลงว่า ธนาคารทั้งสองอาจเผชิญกับการขาดทุนมูลค่ามหาศาล หลังจากบริษัทอาร์เคกอส แคปิตอล ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ของสหรัฐ ผิดนัดชำระหนี้การเพิ่มเงินประกัน (Margin Call)

โนมูระเปิดเผยว่า บริษัทในเครือของโนมูระในสหรัฐมีแนวโน้มขาดทุนสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำธุรกรรมกับบริษัทอาร์เคกอส แคปิตอล ทางด้านเครดิตสวิสระบุว่า การที่บริษัทเฮดจ์ฟันด์ของสหรัฐรายนี้ผิดนัดชำระหนี้การเพิ่มเงินประกัน จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลประกอบการของเครดิตสวิส

ข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน และฉุดหุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงทั่วโลก โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารระดับโลกอาจสูญเสียเงินรวมกันมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์จากกรณีที่บริษัทอาร์เคกอส แคปิตอล ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากการลงทุนในหุ้น และไม่สามารถเพิ่มหลักประกันการกู้ยืมได้

อาร์เคกอส แคปิตอล ได้เข้าลงทุนในหุ้นในประเทศต่างๆ โดยกู้เงิน (Margin Loan) ของธนาคารหลายแห่งไปลงทุน เช่น เครดิตสวิส, โนมูระ และโกลด์แมน แซคส์ แต่หุ้นที่ลงทุนไปนั้นกลับขาดทุน ดังนั้น ธนาคารเจ้าหนี้จึงเรียกให้อาร์เคกอส วางเงินประกันเพิ่ม (Margin Call) แต่ทางบริษัทผิดนัดชำระ จึงถูกบังคับให้ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมา (Forced Sell)

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 2 ก็พอมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดนแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยพุ่งเป้าสร้างงานหลายล้านตำแหน่งและมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นทันที

ขณะเดียวกัน ไตรมาส 2 ยังเป็นโอกาสที่ดีของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เมื่อแม่ยกรายใหญ่อย่างเคธี วูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ark Investment Management แสดงความเชื่อมั่นผ่านสื่อทุกสำนักว่า การที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกเทขายในช่วงต้นปี 2564 นั้น ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าความแข็งแกร่งของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้สิ้นสุดลง

นอกจากนี้ เคธี วูด ยังฝ่ากระแสต้านสกุลเงินคริปโต ด้วยการคาดการณ์อย่างมั่นใจว่า ราคาบิตคอยน์จะทะยานขึ้นแตะระดับ 500,000 ดอลลาร์ ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ทะยานขึ้นทันทีที่เหนือระดับ 40,000 ดอลลาร์

“หุ้นที่มีความผันผวนสูงได้ถูกเทขายออกมาอย่างหนักเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งบิตคอยน์ก็ร่วงลงเช่นกัน โดยล่าสุดดิ่งลงไปอยู่ต่ำกว่า 38,000 ดอลลาร์ แต่เรามีสายตาที่กว้างไกลกว่านั้น และมุมมองของเราอยู่เหนือสถานการณ์ดังกล่าว ใช่..เรามั่นใจว่าราคาบิตคอยน์จะทะยานขึ้นในวันข้างหน้า” เคธี วูด กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กในวันที่ 29 พ.ค.

** ไตรมาส 3: นานาประเทศเห็นพ้องกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก

ข่าวที่สร้างความฮือฮาในไตรมาส 3 คงเป็นรายงานข่าวที่ว่า กว่า 130 ประเทศทั่วโลกเห็นพ้องกับการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำระดับโลก (Global Minimum Tax) หรือ GMT ซึ่งจะเปิดทางให้รัฐบาลต่างๆ เรียกเก็บภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่ได้มากขึ้น

การเห็นพ้องในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการพัฒนากฎระเบียบด้านการจัดเก็บภาษีที่เท่าเทียมกันทั่วโลกสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น กูเกิลและแอปเปิล หากำไรในประเทศที่เก็บภาษีต่ำเพื่อลดภาระการจ่ายภาษีของบริษัท

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ ออกแถลงการณ์ขานรับข่าวดังกล่าวทันที โดยระบุว่า “เราได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้มุ่งไปในทิศทางที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับพนักงานและครอบครัวชนชั้นกลาง” พร้อมกับย้ำว่า การกำหนดอัตราภาษี GMT จะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทข้ามชาติหลบซ่อนผลกำไรไว้ในประเทศที่เก็บภาษีต่ำ

ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้ออกมาขานรับข้อตกลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่า “เป็นเวลาหลายสิบปีที่สหรัฐได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านภาษีระหว่างประเทศ โดยได้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของเรา ขณะที่ชาติอื่นก็ปรับลดลงตาม ทำให้ทุกประเทศต่างแข่งกันปรับลดอัตราภาษีให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่มีชาติใดได้รับชัยชนะ”

นอกจากนี้ ไตรมาส 3 ยังมีข่าวใหญ่เกิดขึ้น เมื่อตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนักจากวิกฤตหนี้สินของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน นักลงทุนกังวลว่า วิกฤตหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์อาจสร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากบริษัทได้กู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน โดยมีการประเมินว่า ขณะนี้เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน

ทั้งนี้ แม้นักวิเคราะห์บางกลุ่มเชื่อว่าในท้ายที่สุดรัฐบาลจีนจะเข้าช่วยเหลือเอเวอร์แกรนด์และไม่ปล่อยให้เกิดการล้มละลาย เนื่องจากจะสร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อระบบการเงินของจีน แต่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) คาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนจะไม่ให้ความช่วยเหลือโดยตรง เพราะเกรงว่า “โมเดลอุ้มเอเวอร์แกรนด์” จะกลายเป็นแบบอย่างให้จีนต้องพยุงกิจการบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่น

** ไตรมาส 4: ตลาดหุ้นผวาสหรัฐเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐถือเป็นข่าวใหญ่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โดยเอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ (S&P) เตือนว่า ตลาดการเงินอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ (Sovereign Debt) หมายถึงเงินที่รัฐบาลกู้ยืมมาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศในภาวะที่รัฐมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย การก่อหนี้ของรัฐบาลจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยทั่วไปแล้ว หากมูลค่าหนี้สาธารณะของประเทศใดสูงใกล้ระดับ 90% ของ GDP ของประเทศ ก็ถือว่าประเทศนั้นมีความเสี่ยงและมีปัญหาในการชำระหนี้ แต่หนี้สาธารณะของสหรัฐในยุคของปธน.โอบามาอยู่ที่ระดับสูงถึง 93% ของ GDP จึงทำให้เกิดกระแสความตื่นตระหนกไปทั่วโลกในเวลานั้น

สำหรับข้อมูลล่าสุดนั้น สำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) เตือนว่า งบประมาณของกระทรวงการคลังสหรัฐอาจจะหมดลงก่อนสิ้นเดือนธ.ค.นี้ หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยขณะนี้หนี้สินของกระทรวงการคลังสหรัฐพุ่งชนเพดานรอบใหม่ที่ระดับ 28.9 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถกู้ยืมเงินได้อีกภายใต้กระบวนการดำเนินงานตามกฎหมาย

… อีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า ไตรมาส 4 ของปี 2564 ก็จะหมดลง และเรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปีจะเป็นไปในทิศทางใด และจะมีผลต่อยอดไปถึงช่วงต้นปี 2565 หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงที่แท้จริงของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top