น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. กำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแนวนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ
การออกแนวนโยบายกำกับดูแลดังกล่าว เนื่องจากจากที่ผ่านมามีสถาบันการเงินบางแห่ง ร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจใช้สินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอเรนซี ในการแลกเปลี่ยนชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้น อันอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และเสถียรภาพระบบชำระเงินของประเทศ
“กรณีที่มีธนาคารพาณิชย์บางราย เข้าไปถือหุ้น หรือได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรในบริษัทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทในเครือนั้น ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่ใช้บริการต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้ง ธปท.ยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง”
น.ส.ชญาวดี กล่าว
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ธปท.มีความกังวลในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Blank Coin) เพราะราคามีความผันผวนสูง มูลค่าไม่คงที่ โดย ธปท.กำลังหารือกับ ก.ล.ต.เพื่อดูแลความเสี่ยง และการแข่งขันต้องให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ให้มีข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
“หากเอกชนรายใดที่ทำไปแล้ว สามารถกลับมาคุยกันได้ และไม่อยากให้เอกชนที่ทำไปแล้ว พอมีเกณฑ์ออกมา จะเกิดต้นทุนในการทำธุรกิจ”
นายสักกะภพ ระบุ
ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Stable Coin) ลักษณะธุรกิจอี-มันนี่ ซึ่ง ธปท.กำกับดูแลอยู่นั้น ธปท.จะดูทั้งโครงสร้างชำระเงิน เรื่องความปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น เข้าเซเว่น เซ็นทรัล หรือเดอะมอลล์ แล้วใช้เหรียญดิจิทัลหนึ่ง แล้วธุรกิจจะลงบัญชีอย่างไร ต้นทุนทางบัญชีจะคิดอย่างไร ทำให้ระบบเศรษฐกิจจะไม่มีประสิทธิภาพ และประชาชนจะต้องมีกี่กระเป๋าเงินดิจิทัลในการใช้จ่าย เป็นต้น
พร้อมยืนยันว่า บทบาท ของ ธปท.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ยังคงดำเนินการใน 3 มิติ คือ 1.ทำเงินให้เป็นเงิน คือ ต้องการดูแลมูลค่าเงินในกระเป๋า เงินฝากในธนาคาร ซึ่งเชื่อมกับอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อ 2.ดูแลไม่ให้ระบบเศรษฐกิจได้รับการกระแทกจนเกินไป ให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนเต็มประสิทธิภาพ ดูแลภาวะการเงิน ดูแลอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเวลาเศรษฐกิจชะลอกว่าที่ควรจะเป็น และ 3. ธปท.ดูแลกำกับธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.เป็นแหล่งกู้ยืมแหล่งสุดท้าย ป้องกันวิกฤติธนาคาร
นายสักกะภพ กล่าวว่า ถ้าคนมาถือเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น การควบคุมจะน้อยลง เพราะคนใช้เงินบาทน้อย กิจกรรมต่างๆ เปลี่ยนไป ทำให้ความสามารถ ธปท.ควบคุมดูแลภาวะการเงินสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจลดน้อยลง และการดูแลเคลื่อนย้ายเงินทุน ไม่ให้ผันผวนทำได้ยากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติจะไม่สามารถป้องกันได้
นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ลักษณะความหมายของการชำระเงินที่ดี คือ การใช้ชำระต้องเข้าถึงได้ง่าย เช่น เงินสด ไม่ต้องมีอุปกรณ์ไฮเทคก็สามารถจ่ายได้ และต้องมีมูลค่าคงที่ ไม่ผันผวน เช่น เงิน หรือเบี้ย โลหะมีค่าที่ใช้กันในอดีต รวมทั้งต้องมีความปลอดภัย และได้รับการยอมรับจากผู้ใช้และผู้รับ
ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น สินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) รูปแบบการออกคล้ายกับการพิมพ์ธนบัตร ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Stable Coin มีสินทรัพย์หนุนหลัง หรือมีกลไลรักษามูลค่า มีราคาไม่ผันผวน มีสกุลเงินมาหนุนหลัง อย่างเช่นเงินบาท ส่วน Blank Coin ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน ราคาผันผวน เช่น บิทคอยน์ เป็นต้น
“ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งอาจไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้จะเกิดความเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งความผันผวนด้านราคา, มาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการใช้ชำระ เช่น ภัยไซเบอร์ อาจถูกแฮกเจาะระบบ เกิดการสูญหายของสินทรัพย์ หรือเหรียญได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับเอง หากนำมาใช้อย่างแพร่หลายอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพด้านการเงิน”
นายกษิดิศ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 64)
Tags: ก.ล.ต., ชญาวดี ชัยอนันต์, ตลาดหลักทรัพย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., สินทรัพย์ดิจิทัล, เงินดิจิทัล