BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.60-34.10 ลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.60-34.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.86 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.60-34.00 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีอีกครั้ง ท่ามกลางแรงกดดันจากทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ และความวิตกต่อผลกระทบจากไวรัสกลายพันธุ์

เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) แถลงต่อสภาคองเกรสว่าเฟดจะหารือว่าจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรเร็วกว่าที่เคยคาดไว้หรือไม่ในการประชุม FOMC วันที่ 14-15 ธ.ค.64 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งเฟดคาดว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงกลางปีหน้า ประธานเฟดระบุว่าความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยภาวะไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป เฟดจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกรณีอัตราเงินเฟ้อไม่ลดลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 11,429 ล้านบาท และ 2,745 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า แม้ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ย.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดแต่อัตราการว่างงานลดลงเกินคาด และการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน (Labor Force Participation) ยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งในมุมมองของเฟดจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ประธานเฟดให้ความเห็นว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อผ่านการขาดแคลนแรงงานเช่นกัน ในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคอาจแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ 6.7% ในเดือน พ.ย.

อนึ่ง เรามองว่าทั้งความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และการปรับท่าทีอย่างมีนัยสำคัญของประธานเฟดในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการยอมรับว่าภาวะเงินเฟ้อสูงอาจไม่ใช่เหตุการณ์ชั่วคราวจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ได้แรงหนุนต่อไปในระยะนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค.ขาดดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับยอดขาดดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ย. ขณะทีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือน ต.ค.ปรับตัวดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ขณะที่กรุงศรีฯ คาดว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจซึมลงก่อนเข้าสู่การประชุม FOMC และเทศกาลคริสต์มาส โดยในเวลานี้ให้น้ำหนักไปที่ทิศทางนโยบายเฟดมากกว่าโอมิครอน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top