FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงจากโอมิครอนฉุด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน พ.ย.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 135.16 ปรับตัวลดลง 19.9% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและการไหลออกของเงินทุน

– ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือน พ.ย.64 โดยสรุป ดังนี้

– ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.พ.65) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวลดลง 19.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ระดับ 135.16

– ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ส่วนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ อยู่ในระดับ “ทรงตัว”

– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

– หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ นักลงทุนเห็นว่าหมวดแฟชั่น (FASHION)

– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์ใหม่

“ผลสำรวจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 16.2% อยู่ที่ระดับ 135.48 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 37.5%% มาอยู่ที่ระดับ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 5% อยู่ที่ระดับ 150.00 และ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 22.2% อยู่ระดับ 140.00”

ในช่วงเดือน พ.ย.64 SET Index ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน SET index ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศจากความกังวลต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟริกาใต้ซึ่งกำลังระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศกลับมาใช้นโยบายปิดประเทศและจำกัดการเดินทาง รวมถึงการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยในการคำนวณดัชนี MSCI ส่งผลให้ในเดือน พ.ย. นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิในตลาดทุนไทยกว่า 10,182 ล้านบาท

โดย SET index ณ สิ้นเดือน พ.ย.64 ปิดที่ 1,568.69 จุด ปรับตัวลดลง 3.4% จากเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในยุโรป ความกังวลต่อการระบาดและกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยควบคุมการระบาด และหลายประเทศเริ่มประกาศการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศอีกครั้ง

รวมถึงปัจจัยด้านแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศ อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากการควบคุมไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แผนการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาคอุปสงค์ในประเทศ

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ธ.ค.64 ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้วว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 19 พ.ย.64 โดยผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นผสมผสานทั้งในส่วนที่คาดว่าอัตราผลตอบแทนจะปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับลดคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ และแรงกดดันจาก Supply พันธบัตรรัฐบาลที่มากขึ้นในขณะที่บางส่วนคาดว่าอัตราผลตอบแทนอาจทรงตัวหรือลดลงจากระดับปัจจุบันจากความกังวลเรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะ risk-off และทำให้อัตราผลตอบแทนอาจปรับลดลง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ธ.ค.64 วา ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือน ธ.ค.นี้อยู่ที่ระดับ 50 ไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนธันวาคมนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน รวมทั้งเศรษฐกิจยังไม่กลับมาโตในระดับเดียวกับในช่วงก่อนโควิด นอกจากนี้ยังไม่มีปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงเหมือนต่างประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามต้องติดตามความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน”

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 ปรับตัวลดลงจากครั้งก่อนแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” จากระดับ 1.20% และ 1.95 ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (19 พ.ย.64) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึง Fund flow จากต่างชาติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top