ไทยประกันชีวิตโชว์เงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกม.อยู่ที่ 334% สูงกว่าคปภ.กำหนด

นายไชย ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยประกันชีวิต เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของไทยประกันชีวิตมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการรับประกันภัยอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัทฯ ขณะเดียวกันฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมาก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมาย อยู่ที่ 334% ซึ่งสูงกว่าอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดที่ 120% เงินสำรองประกันชีวิต 385,723 ล้านบาท ที่พร้อมจ่ายสินไหมและเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกันตามเงื่อนไขสัญญา และมีสินทรัพย์รวม 511,391 ล้านบาท รวมถึงได้รับการจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ จากสถาบัน Fitch Ratings อยู่ที่ AAA(tha) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของธุรกิจไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนของบริษัทฯ ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหลังการแพร่ระบาด อยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยปี 2562 มีจำนวนการเคลมสินไหมทดแทน ทั้งสินไหมมรณกรรมและสินไหมสุขภาพ ประเภทกรมธรรม์รายบุคคล (Ordinary life) และประเภทสินเชื่อ (Credit life) อยู่ที่ 722,863 ราย รวมเป็นเงินจ่ายสินไหมทั้งสิ้น 11,317,364,873 บาท และปี 2563 จำนวนการเคลมสินไหมทดแทนอยู่ที่ 608,667 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,647,685,974 บาท ขณะที่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 จำนวนการเคลมสินไหมทดแทนอยู่ที่ 478,467 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,820,610,947 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการด้านสินไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบรัดกุม โดยมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee : RMC ) โดยการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น บริษัทฯ จัดการความเสี่ยงทั้งในระดับองค์กร และระดับหน่วยงาน โดยระบุความเสี่ยงออกเป็นด้านต่างๆ อาทิความเสี่ยงด้านประกันภัย ความเสี่ยงด้านการตลาด ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านความเพียงพอของเงินกองทุน ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ และความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ บริษัทฯ จะสามารถตอบสนองและปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย สามารถรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทฯ รวมถึงสามารถดำเนินธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“บริษัทฯ พร้อมเคียงข้างลูกค้าในทุกสถานการณ์ พร้อมดูแลผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ทั้งการจ่ายสินไหมและเงินผลประโยชน์ต่างๆ ยกเว้นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญต่อการรับประกันภัย หรือมีเจตนาทุจริตต่อบริษัทฯ จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยที่ถือกรมธรรม์ของไทยประกันชีวิตเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับการดูแลตลอดสัญญากรมธรรม์” นายไชย กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top