รมว.แรงงาน ถกเยียวยากลุ่มคนกลางคืน รอตกผลึกรอบสุดท้ายวันนี้ก่อนชงครม.

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพกลางคืนว่า ได้มีการหารือไปแล้วรอบหนึ่งซึ่งได้แนวทางแล้วแต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเลข จึงให้ผู้แทนสมาคมต่างๆที่มาหารือกลับไปทำตัวเลข โดยการเยียวยาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. กลุ่มนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่วนมากอยู่ในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลให้นโยบายการเยียวยารายละ 3 พันบาท ตามจำนวนลูกจ้างต่อเดือน
  2. กลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่อยู่ในธุรกิจ ผับ บาร์ ทั้งเด็กเสริฟ พ่อครัว เสมียนบัญชี รัฐบาลจะดูแลโดยในส่วนที่ 1 ให้สำนักงานประกันสังคม ออกประกาศเยียวยา 50% จากเหตุสุดวิสัย ส่วนที่ 2 หากไม่เพียงพอในการใช้จ่ายก็จะขอในส่วนของเงินกู้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งตั้งตัวเลขไว้ 5,000 บาท แต่ต้องรอหารืออีกครั้งในวันนี้ ทั้งนี้หากอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้ 2 ส่วน โดยให้ประกันสังคมช่วย 50% อีกส่วนขอเงินกู้จากรัฐบาล
  3. ผู้ที่เป็นศิลปินอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม อาจจะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมตามมาตรา 40 ซึ่งคาดการณ์ทั้งประเทศจะมีไม่เกิน 1 แสนคน แต่ปัญหาอยู่ที่การรับรอง จึงขอให้สมาคมต่างๆรับรองบุคลากรเหล่านี้ก่อน

รมว.แรงงาน กล่าวว่า วันนี้จะมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปนำเสนอต่อสภาพัฒน์ เพื่อพิจารณาเงินกู้ของกระทรวงการคลัง และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) อีก โดยเบื้องต้นถ้ามีจำนวน 1 แสนคน ให้คนละ 5,000 บาท จะใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท

“คุ้มค่ามากกว่าการที่ให้เปิดผับบาร์ในช่วงนี้ เพราะหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาต้องใช้เงินมากกว่า 500 ถึงพันล้านบาทอีก”

นายสุชาติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top