นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้ติดตามและเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนอย่างใกล้ชิด โดยสำนักนามัย กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
รวมถึงได้มีการปรับมาตรการการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรจากทวีปแอฟริกา โดยมีการเพิ่มจำนวนวันกักตัว วันคุมไว้สังเกต และการห้ามเข้าประเทศ และต้องตรวจ RT-PCR รวม 3 ครั้ง คือ วันที่ 0-1, วันที่ 5-6 และวันที่ 12-13
นอกจากนี้ จะจัดเจ้าหน้าที่สำรวจตรวจสอบชุมชนที่มีชาวแอฟริกันอาศัยอยู่ หากมีผู้เดินทางเข้ามาใหม่ จำเป็นต้องกักตัวตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด และจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนร่วมกันสอดส่องดูแล ไม่ให้มีคนแปลกหน้าเข้ามาอาศัยโดยพลการ
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข เพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ได้มีการเตรียมอุปกรณ์การแพทย์ สถานพยาบาล รวมไปถึงระบบที่จะควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว ไม่กระจายไปเป็นพื้นที่กว้าง รวมถึงการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับการเตรียมความพร้อมยกระดับแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในพื้นที่กรุงเทพ
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล มาตรการทางสังคม อาทิ การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง
ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่คณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร กำหนดและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการ Swab และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 อย่างเต็มกำลัง และทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งตัวเอง และครอบครัว กรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนปฏิบัติตนตามแนวคิดเรื่องการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) 10 ข้อ ดังนี้
- ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
- เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่
- สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ สิ่งของที่ใช้ร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
- ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น (น้อยครั้ง และใช้เวลาสั้นที่สุด)
- ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ
- แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
- เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และ
- หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
ในส่วนของผู้ประกอบการ แนะนำให้ดำเนินการตามมาตรการ COVID-Free Setting ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
1. Covid Free Environment ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดโควิด องค์กรต่างๆ ต้องมีระบบระบายอากาศ สุขอนามัย สะอาดปลอดภัย เว้นระยะห่าง ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง
2. Covid Free Personnel ด้านผู้ประกอบการ พนักงานต้องปลอดโควิด ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ มีการคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
3. Covid Free Customer ด้านผู้ใช้บริการ หรือลูกค้าก็ต้องปลอดโควิด โดยให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด และแสดง green card สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือแสดง yellow card สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อ หรือมีผล ATK เป็นลบภายใน 7 วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 64)
Tags: COVID-19, RT-PCR, กทม., ขจิต ชัชวานิชย์, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์โอไมครอน, โควิดสายพันธุ์ใหม่, โอไมครอน