ธปท.จับตาปัญหา Supply Chain Disruption ส่อกระทบเศรษฐกิจโลกยืดเยื้อ

นายชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำบทความ เรื่อง “Supply Chain Disruption ความรุนแรงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก” เนื่องจากมองว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ปัญหา supply chain disruption เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตาอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการใช้มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในหลายประเทศ ไม่เพียงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคบริการเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย ตั้งแต่การผลิตสินค้า การขนส่ง ไปจนถึงผู้บริโภค โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ เช่นเดียวกับวิกฤตโควิดที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร

ปัญหา supply chain disruption เกิดจากอะไร?

ปัญหา supply chain disruption เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลในหลายประเทศต้องออกมาตรการเว้นระยะห่าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้โรงงานหลายแห่งถูกปิดหรือดำเนินการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้ผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต อาทิ เวชภัณฑ์ ถุงมือยาง และเซมิคอนดักเตอร์ อีกทั้งภาคการขนส่ง ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเช่นกัน อาทิ การปิดท่าเรือในจีน การใช้มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตเกิดภาวะชะงักงัน และทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเป็นปัญหาระดับโลก

ความรุนแรงของปัญหา supply chain disruption ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 แม้ปัญหาภาคผลิตจะมีสถานการณ์ปรับดีขึ้นบ้างหลังจากการแพร่ระบาดระลอกแรกเริ่มคลี่คลายลง โดยโรงงานต่าง ๆ สามารถทยอยกลับมาเปิดดำเนินการได้มากขึ้น และเร่งการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่การใช้จ่ายชะลอลงในช่วงก่อนหน้า แต่ปัญหาในด้านการขนส่งกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยยังมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ซึ่งเมื่ออุปสงค์กลับมาเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาค่าขนส่งของตู้คอนเทนเนอร์ปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563

เซมิคอนดักเตอร์ เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการสินค้าในกลุ่มเวชภัณฑ์และถุงมือยางทยอยกลับสู่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยความต้องการสินค้าเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น จาก 2 ปัจจัย ได้แก่

1) กระแส work from home หรือ learn from home ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น อาทิ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน

2) ความต้องการซื้อรถยนต์ฟื้นตัวเร็วกว่าที่ผู้ผลิตคาด ส่วนหนึ่งจากที่รถยนต์ส่วนบุคคลกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพื่อลดการเดินทางโดยรถสาธารณะ ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ปรับลดการสต๊อกสินค้าในช่วงแรกของการแพร่ระบาดจากความกังวลต่อกำลังซื้อที่จะลดลง แต่ความต้องการซื้อรถยนต์ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่ถูกใช้ในส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ อาทิ แผงหน้าปัด เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ขาดแคลนไปทั่วโลก

เซมิคอนดักเตอร์ กลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตและขนส่งสินค้าได้ทันตามความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ปัญหา supply chain disruption รุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ภาคการผลิตดำเนินการได้ไม่เต็มกำลังการผลิต โดยเฉพาะในอาเซียน อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย อีกทั้งจีนได้สั่งปิดท่าเรือหนิงโปว-โจวซาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลต่อภาคการขนส่งสินค้าทั่วโลก โดยราคาตู้คอนเทนเนอร์ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า และระยะเวลาในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ซ้ำเติมปัญหา supply chain disruption ให้ยืดเยื้อกว่าเดิม อาทิ การขาดแคลนคนขับรถบรรทุกในอังกฤษ สหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลกระทบให้ปัญหาในภาคขนส่งคลี่คลายได้ช้าลง และตู้คอนเทนเนอร์ยังคงตกค้างต่อเนื่อง โดยปัญหาค่อนข้างที่จะรุนแรงในอังกฤษ หลังจากอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้ขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนไฟฟ้าของจีนจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบมากขึ้น

ปัญหาจะเริ่มคลี่คลายได้เมื่อไร?

ปัญหา supply chain disruption ที่รุนแรงในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณที่ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว ได้แก่

1. Ease of Supply

การผ่อนคลายมาตรการ: ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศเร่งการฉีดวัคซีน และได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้ภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียน สะท้อนจากดัชนี PMI manufacturing ที่ปรับดีขึ้น

ตู้คอนเทนเนอร์: ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างยังเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะท่าเรือ Los Angeles และ Long Beach ที่ต้องใช้ระยะนานในการขนถ่ายสินค้า อย่างไรก็ดี ท่าเรือพยายามเร่งดำเนินการขนถ่ายสินค้าโดยเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง และลดค่าธรรมเนียมการขนถ่ายสินค้าในช่วงกลางคืน เพื่อบรรเทาปัญหาการขนส่งที่ติดขัด โดยคาดว่าปัญหาการขนส่งจะมีแนวโน้มคลี่คลาย สะท้อนจากราคาค่าขนส่งมีแนวโน้มชะลอลงหลังจากเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2563

เซมิคอนดักเตอร์: ปัจจุบันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ ได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังการผลิต แต่อุปสงค์ของสินค้าที่มีมากกว่าปกติทำให้บริษัทหลายแห่งต้องมีแผนการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ 1) ในระยะสั้น บริษัทหลายแห่งได้ขยายกำลังการผลิตในโรงงานแห่งเดิมซึ่งจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนสินค้าได้บางส่วน และ 2) ในระยะยาว บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ อาทิ TSMC มีแผนการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ แต่การลงทุนดังกล่าวนี้ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี

2. Shift of Demand

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศ และการใช้มาตรการ Living with Covid ทำให้การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง และเปลี่ยนแปลงไปใช้จ่ายในด้านการบริการมากขึ้น โดยอุปสงค์ของสินค้าที่ลดลงจะช่วยลดการกดดันปัญหาการขนส่งในช่วงที่ผ่านมาได้

ปัจจัยข้างต้นสะท้อนว่า supply chain disruption เข้าใกล้หรืออยู่ในระดับพีคแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวจะยังมีแนวโน้มยืดเยื้อไปอีกสักระยะ เนื่องจากหลายปัจจัยยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่าจะทยอยคลี่คลายได้ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ปัญหา supply chain disruption มีความเสี่ยงที่จะกลับมารุนแรงเพิ่มขึ้นได้จาก

1) ความต้องการสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในเทศกาลคริสต์มาส และตรุษจีน โดยอาจจะมีการจองตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งสินค้ามากขึ้น เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและเร่งขนส่งก่อนจะถึงช่วงวันหยุดยาว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้นอีก

2) การแพร่ระบาดระลอกใหม่และการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มขึ้นของภาครัฐ โดยเฉพาะจีนที่เป็นประเทศที่ใช้นโยบาย Zero -Tolerance Covid และเป็นประเทศที่มีท่าเรือการขนส่งที่สำคัญของโลก

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ภาคผลิตและภาคส่งออกของหลายประเทศถูกกดดันจากทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และการขนส่งที่หยุดชะงัก ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2564 มีแนวโน้มชะลอลง โดยภาคการผลิตส่งสัญญาณชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 และยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปตามปัญหาที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อ นอกจากนี้ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เป็นปัญหาสำคัญที่กดดันการส่งออกของหลายประเทศโดยเฉพาะเอเชีย รวมถึงไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็น 1 ใน 4 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด

ต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่งที่แพงขึ้น โดยผู้ผลิตในหลายประเทศต้องแบกรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในเอเชียและไทย เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาสินค้ายังทำได้ค่อนข้างจำกัดในช่วงที่เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทั้งนี้ หากต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน คาดว่าผู้ผลิตอาจจะปรับเพิ่มราคาสินค้า ประกอบกับราคาสินค้าบางชนิด อาทิ รถยนต์ส่วนบุคคล ปรับเพิ่มขึ้นจากการผลิตที่ทำได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ อาจจะเป็นปัจจัยกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top