ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีวาระพิจารณาผลศึกษาเรื่อง การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพิจารณา ส.ว. ส่วนใหญ่แสดงความเห็นให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.และพิจารณาบนความพร้อมของ อปท.เป็นหลักมากกว่าการกำหนดเป็นเป้าหมายและความสำเร็จในการถ่ายโอนโดยเทียบกับจำนวน พร้อมแสดงความกังวลว่าหากถ่ายโอนภารกิจให้ อปท.ที่ไม่พร้อมอาจกระทบในการให้บริการแก่ประชาชนได้
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การถ่ายโอนภารกิจเชื่อว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการส่งต่อการรักษา หาก อปท.ไม่มีเครือข่ายโรงพยาบาลของตนเอง แต่ต้องฝากงานให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นการจัดสรรเงิน ซึ่งปัจจุบัน ตาม พ.ร.บ.สปสช.2545 กำหนดให้ สปสช.เป็นผู้จัดสรรงบประมาณรวม 2 แสนล้านบาททั่วประเทศ แต่หากไม่แก้ไขกฎหมายจะทำให้มีปัญหา ที่ผ่านมาพบว่าการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ใช้การส่งต่อผ่านเครือข่ายโรงพยาบาล
ขณะที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า ตนทราบว่าอนุกรรมการที่พิจารณาการประเมินการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จะพิจารณาว่า 3,000 แห่งที่โอนภารกิจไป อปท.จะพิจารณาและลงมติในวันนี้ แต่ไม่ทราบว่า อปท.ที่รับโอนจะมีความพร้อมหรือไม่ ทั้งนี้การถ่ายโอน รพ.สต.ตามความเข้าใจของท้องถิ่น ตามรายงานที่เสนอ พบว่า ความสำเร็จการถ่ายโอนขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและความจริงใจของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสวนทางกับกระทรวงสาธารณสุขที่คำนึงถึงความพร้อมของหน่วยงานที่รับโอน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และระบบการส่งต่อคนไข้มากกว่าจำนวนถ่ายโอน
“รพ.สต.ส่วนใหญ่ไม่มีแพทย์ แต่พยายามพัฒนาให้มีแพทย์เพื่อดูอาการคนไข้ตามความเหมาะสม หากเกินกว่านั้นต้องส่งต่อ เพราะ รพ.สต.คือการแพทย์ปฐมภูมิ หากตัดตอนยกโครงสร้างพื้นฐาน เงิน และบุคลากร ของ รพ.สต.ไปให้ อปท.ที่มาจากการเลือกตั้ง คือ อบต. หรือ อบจ. ที่ไม่มั่นใจในโครงสร้างอำนาจที่มาจากเลือกตั้ง ซึ่งจะเปลี่ยนทุก 3-5 ปี ทำให้นโยบายการดูแล รพ.สต.เปลี่ยน ดังนั้นขอฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณา เพราะตลอด 20 ปี พบว่าถ่ายโอนไปเพียง 84 แห่ง หากพร้อมต้องโอนได้มากกว่านี้”
พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าว
พล.อ.ต.เฉลิมชัย อภิปรายว่า สำหรับงบประมาณพบว่า รพ.สต.ได้รับเงินจาก สปสช.ต่อหัว 45 บาท เพื่อทำงานส่งเสริม ฟื้นฟู และรักษาสุขภาพ ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจจากกระทรวงสาธารณสุขไปยังท้องถิ่น อาจมีปัญหาเรื่องการดูแล ทั้งนี้ตนไม่คัดค้าน แต่ต้องตระหนักให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบกับการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ
ส่วน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. อภิปรายว่า เห็นด้วยในหลักการที่ควรถ่ายโอนภารกิจบางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่างให้กับ อปท. โดยต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการบริการ และการรักษาที่ดีขึ้นเป็นหลัก
ด้านนายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ส.ว. อภิปรายว่า การโอนภารกิจ รพ.สต.ให้ อปท. สิ่งสำคัญคือการออกแบบโครงสร้างจังหวัด ผ่านคณะกรรมการนโยบายสุขภาพจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. และทีมแพทย์ร่วมเป็นกรรมการ และมีภาคประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ตนเห็นด้วยว่าการถ่ายโอนภารกิจต้องหารือร่วมกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาดไทย, สาธารณสุข ให้ชัดเจน เพราะในมิติการถ่ายโอนภารกิจมีหลากหลาย ทั้งการป้องกัน การดูแล และส่งเสริมสุขภาพ
“ผมมีข้อเสนอว่า อปท.ที่พร้อมรับ ต้องเข้าสู่แผนปฏิรูประดับนโยบาย ระดับจังหวัด ร่วมออกแบบระบบสุขภาพระดับจังหวัด นอกจากนั้นต้องสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงต่อการโอนภารกิจไปยัง อปท. ระดับเสมอภาคที่ผ่านการคิด ไม่ใช่การออกคำสั่งโอนย้าย ที่สำคัญคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม มีบางจังหวัดบอกว่าควรถามประชาชนก่อนว่าจะให้โอนย้ายหรือไม่ เพื่อให้เกิดความราบรื่น แทนการเสนอให้ทำ”
นายณรงค์ กล่าว
ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว.อภิปรายว่า รัฐบาลควรมอบหมายให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สร้างกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสังคมต่อกรณีดังกล่าว โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เชื่อว่าภารกิจโอนภารกิจจะไม่มีความขัดแย้งรุนแรง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 64)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, อปท., โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล