LOXLEY หวังปี 65 ฟื้นจากปีนี้ต้องลดเป้ารายได้ลง 15-20% รับผลกระทบโควิด

นายสุพัฒน์ กรชาลกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลุ่มการเงิน บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) กล่าวว่า บริษัทคาดหวังว่าในปี 65 รายได้จะฟื้นตัว โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลงไปมาก หลังจากปีนี้บริษัทต้องปรับลดเป้าหมายรายได้ลง 15-20% จากเดิมที่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามเวลา

“จากปัญหาของโควิดเรื่องล็อกดาวน์ถึงแม้รายได้ไม่หาย แต่ทำให้การส่งมอบงานล้าช้า ปีนี้เป้าของเราปรับลดลงสักประมาณ 15-20% ปีนี้ ธุรกิจเทรดดิ้งปรับตัวดีขึ้นมา ทำให้เราเห็นว่าธุรกิจเทรดดิ้งสามารสร้างรายได้ยั่งยืนได้ และธุรกิจงานโครงการ คิดว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็ยังคงสามารถ maintain รายได้ไปได้ คาดปีหน้าจะฟื้นตัวดีขึ้น”

นายสุพัฒน์ กล่าว

นายสุพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาปิดธุรกิจที่ประสบผลขาดทุนติดต่อ 2-3 ปี ไม่มีความสามารถการแข่งขัน อาจจะตัดสินใจยกเลิกไป โดยปัจจุบันธุรกิจที่ยังมีผลขาดทุนมีบ้างแต่ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ในปี 65 บริษัทคาดจะได้รับเงินเพิ่มจากบริษัท ล็อกซเล่ย์จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด เมื่อมีการชำระบัญชี หลังจากไตรมาส 3/64 ได้รับเงินจากที่ล็อกซเลย์ จีเทค ชนะคดีหวยออนไลน์ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท ล็อกซเลย์ จีเทคฯ รวมดอกเบี้ย 2.1 พันล้านบาท

ขณะที่ในไตรมาส 3/64 มีรายการพิเศษบันทึกประมาณการผลขาดทุนจากโครงการติดตั้งสายพานลำเลียงเชื่อมต่อไปยังอาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 486 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลพวงจากการล็อกดาวน์ แม้ว่างานคืบหน้ากว่า 84% บริษัทรู้ว่ามีต้นทุน Cost overrun ดังนั้น จึงทบทวนประมาณการและบันทึกหนี้สินที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดในปีนี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี โดยตั้งเพิ่มอีก 500 กว่าล้านบาท รวมกับปีที่แล้วมูลค่าสำรองรวม 1 พันกว่าล้านบาท โดยจะเร่งโครงการให้แล้วเสร็จในปี 65 ซึ่งเป็นงานทดสอบระบบ ใช้เวลา 5-6 เดือน หรือภายในไตรมาส 3/65 คาดว่าค่าใข้จ่ายใหญ่ไม่มีอีกแล้ว

นายสุพัฒน์ กล่าวว่า งานโครงการในมือ (Backlog) ของล็อกซเล่ย์ ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 อยู่ที่ 9,568 ล้านบาท กระจายไปยัง

4 กลุ่มธุรกิจ แบ่งเป็น กลุ่ม Nerwork Solutions จำนวน 4,164 ล้านบาท กลุ่ม Information Technology  2,751 ล้านบาท กลุ่ม Energy  1,633 ล้านบาท และ กลุ่ม Services  1,020 ล้านบาท

ทั้งนี้ Backlog ดังกล่าวจะรับรู้เป็นรายได้ในไตรมาส 4/64 จำนวนกว่า 2 พันล้านบาท หรือประมาณ 28% และจะรับรู้ในปีหน้าราว 48% ส่วนที่เหลือจะรับรู้ในปีถัดไป

“ประเมินสถานการณ์ผลกระทบโควิด-19 ปีนี้บริษัทได้รับผลกระทบเล็กน้อย โดยกลุ่มเทรดดิ้งยังมียอดขายที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการผลิต และปีนี้ยังได้รับโครงการรัฐต่อเนื่อง”

นายสุพัฒน์ กล่าว

นางสาวนพรัตน์ ทรัพย์อดุลชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ LOXLEY กล่าว่า กลุ่มเทรดดิ้งมีสัดส่วนรายได้ 33% ของรายได้รวม มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 64 บริษัทได้ร่วมกับ NRF ร่วมสารสกัดสารกัญชงให้กับผู้ผลิตทั้งอาหารและเครื่องสำอาง

กลุ่ม Network Solution มีสัดส่วนรายได้ 25% สิ้นไตรมาส 3/64 มีงานในมือ 4,164 ล้านบาท ก็คาดรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/64 ที่ 1,063 ล้านบาท

กลุ่ม Information Technology มีสัดส่วนรายได้ 22% โดยมีงานในมือ ณ สิ้นก.ย.64 ที่ 2,751 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/64 ที่ 666 ล้านบาท

กลุ่ม Service เป็นการให้บริการรักษาความปลอดภัยที่มีลูกค้าหลักจากสายการบิน ลูกค้าเอกชนและรัฐวิสาหกิจ มีสัดส่วนรายได้ 11%

กลุ่ม Energy เช่นการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยมีสัดส่วนรายได้ 9% และมี Backlog ณ สิ้นไตรมาส 3/64 ที่ 1,633 ล้านบาท คาดว่ารับรู้รายได้ในไตรมาส 4/64 จำนวน 381 ล้านบาท

นอกจากนี้ LOXLEY มีบริษัทลงทุนอีก 2 แห่ง ได้แก่ BP Castrol ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเครื่อง (LOXLEY ถือ 40%) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้รับเงินปันผลเฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท โดยปีนี้ได้รับแล้ว 160 ล้านบาทคาดว่าจะได้รับเพิ่มอีก 240 ล้านบาทในไตรมาส 4/64 และ NS BlueScope เป็นผลิตและจำหน่ายเหล็กเคลือบ มีกำลังการผลิต 5.8 แสนตัน/ปี (LOXLEY ถือหุ้น 20%) โดยในไตรมาส 4/64 ก็จะได้รับเงินปันผล

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top