ออมสิน เปิดลงทะเบียนสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เริ่มวันนี้ – 30 ก.ย.65

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินจัดทำมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องตกงานหรือขาดรายได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ธนาคารออมสิน ได้ขานรับนโยบายจัดทำ โครงการ “สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน โดยที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินชดเชยความเสียหายจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 30% ของวงเงินสินเชื่อโครงการทั้งหมด เพื่อผลักดันความสำเร็จในการช่วยเหลือ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ใช้เสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ

“โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ” เปิดให้ลงทะเบียนขอกู้ได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ ที่เว็บไซต์ธนาคาร www.gsb.or.th หรือติดต่อที่สาขาธนาคารทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกหรือแนะนำวิธีการลงทะเบียน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

ทั้งนี้ ธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี (ลดต้นลดดอก) ตลอดอายุสัญญา ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี พร้อมผ่อนปรนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการกู้ อาทิ ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 งวดแรก สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องมีหลักประกัน ส่วนวงเงินกู้ 200,000 – 300,000 บาท ใช้บุคคลค้ำประกัน รวมทั้งไม่คิดค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้กว่า 75,000 ครัวเรือน ประกอบด้วย

1) ผู้เริ่มประกอบอาชีพ/ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ช่างฝีมือทุกประเภท งานศิลปะ ช่างหัตถศิลป์ หรือ ผู้ไม่ใช่ช่างฝีมือ แต่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพ โดยมีใบประกาศนียบัตรหรือมีวุฒิบัตรรับรอง วงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท

2) ผู้ขับขี่รถสาธารณะ เช่น แท็กซี่หรือรถรับจ้างประเภทต่าง ๆ โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ รวมถึงผู้ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ในโครงการของธนาคาร วงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท (ตรวจสอบรายชื่อแฟรนไชส์ในโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th)

3) ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าส่งค้าปลีก ร้านขายของที่ระลึก โชห่วย ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีสถานที่ตั้งกิจการแน่นอน และมีเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ วงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top