นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้ ครั้งที่ 2/2564 ว่า การประชุมวันนี้เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ทั้งนี้ ตามที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. ได้ติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ดังกล่าว ช่วงระหว่างวันที่ 28 พ.ย. – ต้นเดือน ธ.ค.64 จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำหลากและส่งผลกระทบกับประชาชนได้ ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามเฝ้าระวังคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยที่จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงและล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณปากแม่น้ำได้เช่นกัน ซึ่ง กอนช.จะยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายชยันต์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้สรุปแนวทางปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างศูนย์ฯ น้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จะบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในการติดตาม เฝ้าระวัง ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ แนวโน้มการคาดการณ์ การเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และแผนการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งหารือแนวทางการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง และคาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงล้นอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง และเขื่อนปัตตานี ให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำล้นทางระบายน้ำ กระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ
“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำฝนและน้ำท่าอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุอย่างรัดกุม เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และกำชับให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง”
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. ยังได้เปิดกลุ่มไลน์ ที่เชื่อมโยงหน่วยงานเกี่ยวข้องผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยมีทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ การประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ประกาศแจ้งเตือนต่างๆ เพื่อแจ้งไปยังอำเภอ ท้องถิ่น ประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่ได้โดยตรง ซึ่งนอกจากจะเป็นส่งผ่านข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังเป็นการติดตามผลการวิเคราะห์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และเป็นการติดตามผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการลดผลกระทบให้ประชาชนได้โดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนยังสามารถแจ้งข้อมูลพื้นที่ประสบภัย การขอรับการช่วยเหลือได้ทันที ทั้งการแจ้งจุดประสบภัย ภาพถ่ายที่เป็นปัจจุบันมายังกลุ่มไลน์นี้ เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร และเชื่อมโยงข้อมูลในการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 64)
Tags: กอนช., ชยันต์ เมืองสง, น้ำท่วมภาคใต้, ฝนตกหนัก, เขื่อนบางลาง