AOT ขยายเวลามาตรการช่วยสายการบิน-ผู้ประกอบการในสนามบินไปถึง มี.ค.66

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 14/2564 ได้พิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ภาครัฐได้มีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 แต่ผู้ประกอบการจำนวนมากยังคงทยอยขอยกเลิกการประกอบกิจการ และ/หรือยังไม่มีความมั่นใจที่จะพร้อมกลับมาประกอบกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก อันส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะอย่างรุนแรง ประกอบกับสายการบินและผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่างเต็มที่ภายในปี 65

โดยในระยะเวลาที่ผ่านมา สายการบินและผู้ประกอบการมีความประสงค์ขอให้ ทอท.ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการขยายอายุสัญญาต่าง ๆ ออกไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่สายการบินและผู้ประกอบการยังไม่มีความมั่นใจในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและยังมีรายจ่ายในการกลับมาเพื่อประกอบกิจการอีกจำนวนมาก โดยตามการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(International Air Transport Association: IATA) พบว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศรวมทั่วโลกในปี 65 จะยังคงต่ำกว่าปี 62 และจะยังคงไม่ฟื้นคืนเท่าระดับปกติจนถึงปี 66

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจการบินและท่าอากาศยานให้ยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง ดังนี้

1. ขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบิน ดังนี้

1.1 การปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละและมีการกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี ให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทน โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.65 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.66

1.2 การปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน/รายปี จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.65 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.66

1.3 การยกเว้นและการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน ค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charges) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.65 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.66

1.4 สายการบินและผู้ประกอบการทุกรายต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตรา 12.5% ของอัตราค่าเช่าพื้นที่เดิมก่อนได้รับมาตรการยกเว้นและการปรับลดค่าเช่าพื้นที่แก่ ทอท. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ทอท.ขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 12.5% ไปพลางก่อนจนกว่า ทอท.จะมีการแจ้งเปลี่ยนอัตราการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราใหม่

2. ขยายระยะเวลาการอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ออกไปอีก 1 ปี นับจากวันสิ้นสุดการให้สิทธิประกอบกิจการเดิม โดยไม่ต้องวางหลักประกันสัญญาเพิ่มเติม หากหลักประกันสัญญาครอบคลุมหนี้สินคงค้างภายหลังระยะเวลาอนุญาตให้ประกอบกิจการแล้ว โดยมีเงื่อนไขดังนี้

2.1 เป็นผู้ประกอบการซึ่งมีนิติสัมพันธ์กับ ทอท.อยู่แล้วในวันที่คณะกรรมการ ทอท.มีมติ (วันที่ 25 พ.ย.64)

2.2 ผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับสิทธิ์จะต้องทำหนังสือแจ้งขอรับสิทธิ์การขยายระยะเวลาอนุญาตให้ประกอบกิจการต่อ ทอท.

3. ทอท.สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการตามข้อ 1 และ 2 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

4. สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการหรือถูกกำกับดูแล ตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ให้ ทอท.พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายดังกล่าวกำหนด

อนึ่ง มาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการตามข้อ 1 และ 2 ทอท.คาดว่า ในปีงบประมาณ 2565 ทอท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่ากรณีที่ ทอท.ไม่ดำเนินการขยายมาตรการใด ๆ ในอัตรา 17.76% คิดเป็นจำนวน 3,037 ล้านบาท และส่งผลให้ ทอท.คาดว่าจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตรา 203.72% จากปีงบประมาณ 2564

ในปีงบประมาณ 2566 ทอท.คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 140.62% จากปีงบประมาณ 2565

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top