SFP เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจสับปะรด มุ่งสู่ธุรกิจพัฒนานิคมฯ ในระยอง-ชลบุรี

บมจ.อาหารสยาม (SFP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจผลิตจำหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดบรรจุกระป๋อง ผลไม้รวมบรรจุกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้นบรรจุในถุงปลอดเชื้อ ผลไม้ตามฤดูกาล (ธุรกิจสับปะรด) ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจสับปะรดดังกล่าวดำเนินงานในนามของบริษัทฯ และบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้แก่ บริษัท ควอลิตี้ ไพน์ แอปเปิล โปรดักส์ จำกัด (QPP) โดยมีโรงงานซึ่งเป็นฐานการผลิตอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยการปรับโครงสร้างนี้เป็นไปตามหลักการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ซึ่งคณะกรรมการได้มอบหมายให้ฝ่ายจัดการดำเนินการจัดทำแผนงานล่วงหน้า และเตรียมงานรองรับการปรับโครงสร้างธุรกิจสับปะรด โดยบริษัทฯ ได้จัดทำแผนงานและเตรียมงานที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจสับปะรด บริษัทฯ จะดำเนินการให้ บริษัท อาหารสยาม (2513) จำกัด หรือ SF (2513) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสับปะรดทั้งหมดแทนบริษัทฯ และ QPP โดยจะเป็นไปตามแผนงานดังนี้

– SF(2513) จะเริ่มเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ของธุรกิจสับปะรดแทนบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป และจะเริ่มเป็นผู้ส่งออกและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของธุรกิจสับปะรดแทนบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป (บริษัทฯ ยังคงเป็นผู้ส่งออกและจัดจำหน่ายจนถึง 31 ธันวาคม 2564)

– การปรับโครงสร้างธุรกิจสับปะรดของ QPP บริษัทฯ ได้วางแผนงานให้การปรับโครงสร้างธุรกิจสับปะรดของ QPP แล้วเสร็จภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจสับปะรดของบริษัทฯ เล็กน้อย เพื่อไม่ให้กระทบต่อให้การดำเนินธุรกิจสับปะรดในภาพรวม โดย SF (2513) จะเริ่มเป็นผู้ผลิต ส่งออกและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของธุรกิจสับปะรดแทน QPP พร้อมกันทั้งหมดในช่วงประมาณเดือนเมษายน 2565

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริษัทฯ มีความเห็นว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจทั้งหมดในภาพรวมของกลุ่มบริษัทฯ โดยการปรับโครงสร้างครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการและการดำเนินงานของธุรกิจสับปะรดทั้งหมดเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทฯ ที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินเป็นนิคมอุตสาหกรรมพร้อมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในจังหวัดระยอง และชลบุรี ตามที่บริษัทฯ ได้ศึกษาข้อมูลและวางนโยบายที่จะเข้าดำเนินธุรกิจดังกล่าวไว้แล้วก่อนหน้านี้

สำหรับธุรกิจพัฒนาที่ดินเป็นนิคมอุตสาหกรรมพร้อมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในจังหวัดระยอง และชลบุรีของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ เห็นว่ามิได้ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือเป็นการแข่งขันกับธุรกิจอื่นหรือทับซ้อนกับนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทอื่นในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ แต่อย่างใด

บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลโครงการและการเตรียมความพร้อม รวมถึงการตรวจสอบ และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับธุรกิจอื่นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการจัดเตรียมศึกษาข้อมูลโครงการขั้นต้น แต่เนื่องจากสาเหตุการระบาดของโควิด-19 ทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการตลาดเปลี่ยนแปลงไป

บริษัทฯจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและปรับปรุงกำหนดแผนงานในรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่า จะสามารถดำเนินงานในขั้นตอนงานเอกสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเตรียมงาน ให้แล้วเสร็จได้ภายในไตรมาสที่ 4/2566 โดยในขั้นตอนนี้การขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะเป็นส่วนที่ใช้เวลามากที่สุด คือใช้เวลาระหว่าง 18-24 เดือน ในขณะที่การประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งนิคมฯและขั้นตอนการเตรียมงานพัฒนาสามารถที่จะดำเนินการไปได้พร้อมกันในระหว่างการจัดทำและรอการอนุมัติ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับการเข้าพัฒนาพื้นที่โครงการจะสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากการได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)แล้ว ทั้งนี้เมื่อบริษัทฯ มีข้อสรุปและแผนงานการดำเนินธุรกิจที่แน่นอนแล้ว บริษัทฯ จะนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์และประกาศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทฯ จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top