คลัง เล็งชงครม.ขยายกรอบวงเงินชดเชยปีงบฯ 65 ให้ครอบคลุมประกันรายได้เกษตรกร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการคลังของรัฐครั้งที่ 2 ปี 64 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเรื่องการกำหนดอัตรายอดคงค้างของภาระที่รัฐต้องชดเชยตามมาตรา 28 ซึ่งนายกฯ มีความเป็นห่วงเรื่องงบประมาณขาดตอนอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรที่รอรับเงินประกันรายได้ตามนโยบายของรัฐ ประกอบด้วยการประกันรายได้ และการลดต้นทุนการผลิตของการปลูกข้าว โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประกันรายได้รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ด้วยวงเงิน 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันรายได้ 13,000 ล้านบาท และมาตรการคู่ขนาน 5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การจัดวงเงินเพื่อสนับสนุนโครงการประกันรายได้ มีความจำเป็นต้องขยายกรอบอัตรายอดรวมคงค้างของภาระที่รัฐต้องชดเชยตามมาตรา 28 และอาจต้องขอการสนับสนุนจากงบกลาง เนื่องจากปกติแล้วการชดเชยล่วงหน้าจะตั้งงบประมาณคืนให้ในปีงบประมาณถัดไป โดยในปี 65 ได้ตั้งงบประมาณคืน 76,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินในมาตรา 28 นั้นไม่เพียงพอ

นายกฯ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงพาณิชย์ หารือเรื่องการดำเนินการในส่วนของประกันรายได้ที่ค้างอยู่ จากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณที่ค้างจ่ายอยู่ตามมาตรา 28 ซึ่งผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติว่า กรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 65 มีความจำเป็นต้องขยายกรอบอัตราจากเดิม 30% เป็น 35% เป็นระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากขณะนี้มียอดคงค้างเหลืออยู่ที่ 5,360 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลเรื่องการประกันรายได้พืชผลเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ได้รับการอนุมัติในส่วนที่ 2 เช่น ยาง และข้าว จึงต้องมีการเปิดวงเงินเพิ่มอีก 5% ซึ่งจะมีวงเงินเพิ่มอีก 155,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 160,360 ล้านบาท

“เมื่อครบ 1 ปี แล้วจะกลับไปอยู่ที่อัตรา 30% และต้องขอให้คณะกรรมการโดยทางฝ่ายเลขานุการกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการปรับอัตรากลับไป 30% อีกครั้งหนึ่ง เป็นการประเมินผลหลังจากที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมทั้งจะมีวงเงินที่ค้างอยู่จากโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้วยังไม่ได้ปิดโครงการและคืนวงเงินกลับมาที่มาตรา 28 และวางแผนมาตรการในปี 66 ต่อไป โดยนายกได้ให้แนวนโยบายของโครงการประกันรายได้ว่า จะต้องมีการประเมิน พิจารณารูปแบบ และวิธีการปฎิบัติ รวมทั้งมาตรการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เพื่อให้ไม่เป็นภาระงบประมาณล่วงหน้า”

นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติเรื่องโครงการประกันพืชผล โดยเฉพาะข้าว ที่มีการใช้งบประมาณค่อนข้างสูง โดยแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร และสำนักงบประมาณ พิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง มติที่ประชุมเห็นว่า ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จะขอให้บรรจุเข้า พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นงบประมาณปกติ เพื่อไม่ให้มีการสะสมภาระการคลังในมาตรา 28

ในขณะเดียวกัน ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอีก เช่น มาตรการสินเชื่อของธนาคารสถาบันการเงินของรัฐ ที่ช่วยเหลือประชาชนในทุกอาชีพ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งการปล่อยสินเชื่อต้องมีการขอวงเงินชดเชยกรณี NPL โดยล่าสุดธนาคารออมสินออกมาตรการสร้างงานสร้างอาชีพ และขอวงเงินชดเชย 30% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการชดเชยอัตราค่าบริการสาธารณะ (PSO) ซึ่งกระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงบประมาณจะเร่งรัดโครงการที่อนุมัติไปแล้ว เพื่อคืนวงเงินหลังโครงการเสร็จสิ้น

“หลังจากที่คณะกรรมการมีมติดังกล่าว จะประกาศเรื่องวันรับเงินประกันรายได้ในช่วง 1-2 วันนี้ สำหรับการจ่ายเงินธนาคารธ.ก.ส. จะทำการจ่ายเงินให้เกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค. หรือฤดูเก็บเกี่ยวนี้ นอกจากนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้า ครม. จะพิจารณาอนุมัติโครงการประกันรายได้ในส่วนที่เหลือ และโครงการประกันรายได้ยางพารา”

นายอาคม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top