In Focus: เงินเฟ้อ : ตัวการป่วนเศรษฐกิจโลก

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกคงหนีไม่พ้นปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในหลายประเทศ โดยเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี ขณะที่เงินเฟ้อของอังกฤษสูงสุดในรอบ 10 ปี สิ่งนี้นับเป็นโจทย์ท้าทายเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางในการรับมือกับผลกระทบที่ตามมา

In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับเงินเฟ้อ และผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งการรับมือของเจ้าหน้าที่ทั่วโลกต่อปัญหาดังกล่าว

เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบกว่า 30 ปี

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% จากระดับ 5.4% ในเดือนก.ย.

นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% จากระดับ 0.4% ในเดือนก.ย.

ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ย. และพุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.0% จากระดับ 4.0% ในเดือนก.ย.

เงินเฟ้ออังกฤษพุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.9% หลังจากดีดตัวขึ้น 3.1% ในเดือนก.ย.

เงินเฟ้อยูโรโซนสูงกว่าเป้าหมาย ECB กว่า 2 เท่า

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ของยูโรโซนดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.1% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้กว่า 2 เท่า

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ของยูโรโซนได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน รวมทั้งการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารและราคาในภาคบริการ

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ ECB ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบรายปี

CPI = Consumer Pain Index?

นักวิเคราะห์จากเวลส์ฟาร์โกพูดล้อเลียนดัชนี CPI (Consumer Price Index) หรือ “ดัชนีราคาผู้บริโภค” ว่า ที่ถูกต้องนั้น ดัชนี CPI ย่อมาจาก Consumer Pain Index หรือ “ดัชนีความเจ็บปวดของผู้บริโภค” เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำให้มูลค่าของเงินในกระเป๋าลดลง ทำให้ผู้บริโภคซื้อของได้น้อยลง และเหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นขณะที่ผู้บริโภคกำลังเตรียมจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสำคัญ ได้แก่ วัน Black Friday ในเทศกาลขอบคุณพระเจ้า หรือวันคริสต์มาสในช่วงท้ายปี

มีการคาดการณ์กันว่า ชาวอเมริกันจะต้องควักเงินในกระเป๋ามากขึ้น 14% สำหรับการจัดเตรียมอาหารมื้อค่ำในวันขอบคุณพระเจ้าในปีนี้ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 31 ปี

เงินเฟ้อพุ่งฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งต่ำสุด 10 ปี

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 66.8 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2554 จากระดับ 72.8 ในเดือนก.ย.

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 72.5

ดัชนีได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล

IMF เตือนเงินเฟ้อกระทบเศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในสหรัฐอาจสร้างปัญหาเชิงระบบทั้งต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก

IMF ยังเตือนว่าภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น อาจแก้ไขได้ยากในหลายประเทศ หากปัญหาชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานยังคงดำเนินต่อไป

นอกจากนี้ แม้เงินเฟ้อของสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปีหน้า แต่ก็ยังคงต้องถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงในช่วงขาขึ้น

ชำแหละเบื้องหลังเงินเฟ้อพุ่ง

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในสหรัฐถือเป็นทุกขลาภที่เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะเป็นข่าวดี แต่เป็นความจริงเพียงด้านเดียว เนื่องจากในช่วงแรกของการแพร่ระบาด รัฐบาลสหรัฐได้บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจพากันปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดแรงงานออกจากระบบถึง 22 ล้านตำแหน่ง ขณะที่เศรษฐกิจหดตัวลงเป็นประวัติการณ์ถึง 31% ในไตรมาส 2/2563

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐกลับฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ รวมทั้งมีการระดมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ชาวอเมริกันในวงกว้าง ซึ่งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้รัฐบาลประกาศเปิดเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคพากันออกมาใช้จ่าย หลังจากถูกอั้นไว้ในช่วงที่ถูกล็อกดาวน์

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจซึ่งได้ปลดแรงงานจำนวนมากก่อนหน้านี้ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อการรองรับอุปสงค์ในตลาด ขณะที่ท่าเรือต่างๆก็ยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับการขนส่งสินค้าจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งที่ถูกปลดออกจากงาน ต่างก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากมีความพอใจต่อมาตรการของรัฐบาลในการแจกเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงเลือกที่จะเป็นคนว่างงานต่อไป

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น เนื่องจากการเปิดเศรษฐกิจในหลายประเทศได้ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ขณะที่การผลิตน้ำมันของสหรัฐในอ่าวเม็กซิโกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หลังจากได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนก่อนหน้านี้

ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าว ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่งขึ้น และบริษัทต่างๆก็ได้ผลักภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการบวกเข้าไปในราคาสินค้า ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์

เราจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อในรอบนี้เกิดจากทั้งปัจจัย Demand-Pull และ Cost-Push คือเงินเฟ้อที่เกิดจากทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า การที่รัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่เฟดทำ QE ด้วยการพิมพ์เงินแบบไม่อั้นเข้าสู่ระบบ ก็กลายเป็นดาบ 2 คม โดยในแง่หนึ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งก็ได้ทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ไบเดน” ชูมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานช่วยแก้ปัญหาคอขวด

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า กฎหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสจะช่วยแก้ปัญหาภาวะคอขวดด้านอุปทานที่เกิดขึ้น ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปทาน โดยจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในตลาด ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวลง

ทั้งนี้ โครงการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ปธน.ไบเดนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยโครงการดังกล่าวจะรวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการก่อสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ท่าเรือ ปัจจัยพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ

คาดสหรัฐยังเผชิญเงินเฟ้อสูงต่อไปอีก 1 ปี

นักวิเคราะห์ระบุว่าภาวะเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ตราบใดที่บริษัทต่างๆยังคงต้องดิ้นรนในการผลิตสินค้าเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภค

“เรายังคงต้องจับตาอุปสงค์ที่พุ่งขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคได้” นายริค ไรเดอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทแบล็คร็อคกล่าว

ทางด้านนางเมแกน กรีน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันโครล กล่าวว่า “เงินเฟ้อและเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติในที่สุด โดยเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นเพียง ‘ชั่วคราว’ แต่ดิฉันคิดว่า คำว่า ‘ชั่วคราว’ นี้ จะกินเวลาอีกราว 1 ปี”

ส่วนนายเจสัน เฟอร์แมน อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า “ผมคิดว่าเงินเฟ้อจะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าไม่สูงเท่ากับที่เราเจอมาในปีนี้ แต่ก็จะยังคงอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับสถิติที่ผ่านมา”

คาดเศรษฐกิจสหรัฐไม่เผชิญ stagflation

การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสหรัฐจะกลับมาเผชิญภาวะ stagflation เหมือนในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูง พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา และอัตราว่างงานพุ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้ไม่เหมือนกับในช่วงทศวรรษ 1970 โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนมีเสถียรภาพ

Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยธุรกิจ ระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในเดือนต.ค.พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2551 แต่ผู้บริโภคก็ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะดีดตัวขึ้นในไตรมาส 4/2564 ทำให้สหรัฐเผชิญแต่ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงเพียงอย่างเดียว แต่เศรษฐกิจจะไม่ซบเซา

เฟดยันไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อพุ่ง

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่ดีดตัวขึ้น ได้สะท้อนถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ซึ่งในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 3 พ.ย. เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมกับประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. ซึ่งการลดวงเงิน QE ดังกล่าวจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้มีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

“การตัดสินใจปรับลดวงเงิน QE ไม่ได้แปลว่าเรากำลังส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยเราจะยังคงทำการทดสอบภาวะเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยคือการที่ตลาดแรงงานขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในแง่ของตัวเลขจ้างงานและอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน” นายพาวเวลกล่าว

อย่างไรก็ดี นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ เรียกร้องให้เฟดเร่งการปรับลด QE เพื่อให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปีหน้า หลังเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี และมีการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมี.ค.2565 จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนก.ค.2565

นักลงทุนฟันธง BoE นำร่องแบงก์ชาติโลกขึ้นดอกเบี้ยเดือนหน้า หลังเงินเฟ้อพุ่งนิวไฮ 10 ปี

ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนธ.ค. หลังเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี โดย BoE จะเป็นธนาคารกลางแห่งแรกในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่แล้ว

ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มเกือบ 100% ที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.15% สู่ระดับ 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 16 ธ.ค. หลังจากที่ BoE สร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.

ก่อนหน้านี้ นายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณบ่งชี้ว่า BoE มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

นายเบลีย์กล่าวว่า BoE จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ แม้เขาเชื่อว่าการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

นายเบลีย์คาดการณ์ว่าการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นต่อไป ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ECB ยันปีหน้ายังไม่ขึ้นดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อพุ่ง

นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อยู่ในกลุ่มธนาคารกลางขนาดใหญ่ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าที่สุด แม้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น

นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ส่งสัญญาณว่า ECB จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม

นางลาการ์ดกล่าวว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้านั้น “ยังไม่มีแนวโน้มเป็นที่น่าพอใจ โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางยังคงซบเซา และเมื่อยึดตามกฎเกณฑ์ของสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน จึงยังไม่เป็นการเหมาะสมที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย”

นอกจากนี้ นางลาการ์ดไม่เห็นด้วยกับการที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นนั้น อาจจะส่งผลให้ค่าจ้างและราคาปรับตัวสูงขึ้น

“เรามองว่าการขยายตัวของค่าจ้างในปีหน้าอาจจะสูงกว่าในปีนี้ แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบระลอกที่สองนั้น ยังคงอยู่ในวงจำกัด” นางลาการ์ดกล่าว

ไทยควรเตรียมรับมือเงินทุนไหลออก หากต่างชาติขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

คาดว่าธนาคารกลางหลายแห่งอยู่ในระหว่างเตรียมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น โดยในบรรดาธนาคารกลางขนาดใหญ่นั้น คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเดือนหน้า ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกลางปีหน้า ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อาจส่งผลกระทบทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงไทย เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า เจ้าหน้าที่จึงควรเตรียมการรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top