นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากความคืบหน้าของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ว่า ตามที่ประเทศอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไนฯ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย พร้อมทั้งประเทศคู่เจรจา 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ยื่นสัตยาบันสารต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไปอย่างแน่นอนนั้น
กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) และกำกับดูแลการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ได้เตรียมการสำหรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงดังกล่าวได้ทันทีเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำระบบต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP ได้แก่ ระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต และจะออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข รวมถึงวิธีการในการยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) และการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต ประกาศให้ผู้ประกอบการทราบรายละเอียดเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ต่อไป
นอกจากการจัดเตรียมระบบดังกล่าว กรมฯ ยังได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรภายใน เพื่อรองรับภาระงานในการอำนวยความสะดวกทางการค้า และมีกำหนดจัดงานสัมมนาออนไลน์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP ให้แก่ผู้ประกอบการในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 อีกด้วย
ขณะเดียวกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA จะมีการปรับปรุงพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ โดยเปลี่ยนจากฉบับปี 2002 เป็น 2017 ส่งผลให้มีการปรับแก้ไขแบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form JTEPA) และแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการแก้ไขประกาศกรมการค้าต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ในการขอหนังสือรับรองฯ และตรวจสอบพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและกฎถิ่นกำเนิดได้สะดวกมากขึ้น
โดยที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย จากข้อมูลการใช้สิทธิพิเศษในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2564 พบว่าไทยใช้สิทธิ JTEPA ในการส่งออกไปญี่ปุ่นมากถึง 4,961.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการใช้สิทธิดังกล่าว ได้แก่ เนื้อสัตว์แช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรมจำพวกสารเคมี อาทิ เดกซ์ทริน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต เป็นต้น
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ย้ำว่าสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTAs ถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลง RCEP ที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 15 ประเทศ สามารถสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งมีการปรับกฎระเบียบ มาตรการทางการค้าและพิธีการทางศุลกากรให้สอดคล้องกันในการใช้สิทธิประโยชน์ ลดความยุ่งยากและซับซ้อนในการดำเนินพิธีการต่าง ๆ ช่วยลดต้นทุนด้านภาษี และที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในแหล่งที่กว้างขึ้น โดยสามารถนำมาผลิตเพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิดไทย
ยิ่งไปกว่านั้น ความตกลง RCEP ได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ส่งออกของไทยในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด เนื่องจากปัจจุบันความตกลง ASEAN+1 เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ยังไม่มีการใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนเอกสารการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการได้
“กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการใช้สิทธิประโยชน์ด้านถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยภายใต้ FTAs พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการอย่างสูงสุด ทั้งในด้านการให้คำปรึกษาสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ และการยกระดับการบริการต่าง ๆ ของกรมด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTAs ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น”
นายชุตินันท์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 64)
Tags: RCEP, การค้า, ชุตินันท์ สิริยานนท์, ผู้ประกอบการ, อาเซียน, เศรษฐกิจภูมิภาค