นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564/65 จะมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำ หากมีการใช้น้ำในแต่ละส่วนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ หรือมีการเพาะปลูกนอกแผนเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำร่างแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานราชการในการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร และเตรียมการให้ความช่วยเหลือ
โดยจะดำเนินงานให้สอดคล้องกับ 9 มาตรการ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ใช้กรอบแนวคิด “Smart DRM for 3s : SEP – SDGs – SEDRR” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนดังกล่าว และจะเสนอเข้าคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 30 พ.ย.นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดส่งแผนปฏิบัติการในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักแผนและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ภายในวันที่ 25 พ.ย.64 และรายงานผลการดำเนินงานทุกวันที่ 5 ของเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.64
รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า จากรายงานสรุปพื้นที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยปี 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 53 จังหวัด สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 42 จังหวัด และยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดพิศณุโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสตูล โดยสถานการณ์ในทุกพื้นที่สามารถควบคุมได้แล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 59,361 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 76% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 35,430 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 68% ของความจุน้ำใช้การ) และสามารถรับน้ำได้อีก 16,983 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ด้านการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งนั้นมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ด้านเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับของความสำคัญ และยังได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับสถานกาณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาตใต้ กรมชลประทานจะติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมความพร้อมในส่วนรับผิดชอบของหน่วยงาน เครื่องมือ เครื่องจักรกลพร้อมสำหรับนำออกมาใช้งานได้ทันที รวมถึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดการสำรวจและให้ความช่วยเหลือ เยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ทุกพื้นที่ที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ทั่วถึง และเป็นธรรม และต้องขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้เกษตรกรดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด เนื่องจากหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามที่กำหนดนั้น หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยหรือภัยพิบัติต่างๆ ต่อภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ ประมง ปศุสัตว์ หม่อนไหม และสวนยาง เกษตรกรจะไม่สามารถรับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ภัยแล้ง, สทนช., สาธารณภัย, สำราญ สาราบรรณ์