นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนต.ค. 64 พบว่า การส่งออก ขยายตัวได้ 17.4% ที่มูลค่า 22,738 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า ขยายตัวได้ 34.6% ที่มูลค่า 23,108 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือนต.ค. ขาดดุลการค้า 370 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การส่งออกช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ขยายตัวได้ 15.7% คิดเป็นมูลค่ารวม 222,736 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า ขยายตัวได้ 31.3% ที่มูลค่า 221,089 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรก ไทยเกินดุลการค้า 1,646 ล้านดอลลาร์
รมว.พาณิชย์ เชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะเติบโตได้ราว 15-16% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 4% ถึง 4 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2.66-2.68 แสนล้านดอลลาร์
“ส่งออกทั้งปีนี้ คาดว่า 15-16% มีความเป็นไปได้ เกินกว่าเป้าที่เราเคยตั้งไว้เมื่อตอนต้นปีถึง 4 เท่าตัว”
นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้การส่งออกไทยในเดือนต.ค. สามารถขยายตัวได้ในระดับสูง ประกอบด้วย 1.การดำเนินการตามแผนการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในการรักษาตลาดเดิม เพิ่มเติมตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่า 2.การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 4 3.ภาวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งในเดือน ต.ค.เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ ธ.ค.59 4.สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอย่างไรก็ดี สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า หากในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.64) สามารถทำได้เฉลี่ยที่เดือนละ 22,000 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 17% ต่อเดือน ก็จะทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวได้ 15-16% คิดเป็นมูลค่า 266,379 – 268,696 ล้านดอลลาร์
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าในเดือนต.ค. พบว่า การส่งออกขยายตัวดีในทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มสินค้าเกษตร ขยายตัว 22.5% ที่มูลค่า 2,002 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ทั้งนี้สินค้า 5 อันดับแรก ที่มีการส่งออกสูง คือ ลำไยสด โต 97.7% ผลิตภัณฑ์ยางพารา โต 51.7% ข้าว โต 33.7% ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง โต 29.5% และมะม่วงสด โต 27%ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัวได้ 13.5% ที่มูลค่า 1,714 ล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยสินค้า 3 อันดับแรก ที่มีการส่งออกสูง คือ น้ำตาลทราย โต 111.6% ผลไม้สดแช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป โต 28.7% และอาหารสัตว์เลี้ยง โต 14.4%ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวได้ 13.9% ที่มูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยสินค้า 5 อันดับแรก ที่มีการส่งออกสูง ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โต 67.3% เหล็กและผลิตภัณฑ์ โต 35.9% อัญมณีและเครื่องประดับ โต 20.6% แผงวงจรไฟฟ้า โต 18.6% และรถยนต์/อุปกรณ์ โต 10.3%
ด้านตลาดส่งออก พบว่าการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหลักของไทย เช่น ตลาดสหรัฐ ขยายตัว 16.1% ตลาดจีน ขยายตัว 14.1% ตลาดอาเซียน (ไม่รวม CLMV) ขยายตัว 39.7% เป็นต้น ส่วนตลาดใหม่ที่การส่งออกมีอัตราการขยายอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ตลาดรัสเซีย, เอเชียใต้, แอฟริกา, ละตินอเมริกา เป็นต้น
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวดีสะท้อนจาก 1) ทิศทางการค้าโลกขยายตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 4 2) ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าไทย 3) การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเตรียมเปิดประเทศในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อภาคการค้า 4) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ และ 5) มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การค้าชายแดนเริ่มคลี่คลาย โดยด่านการค้าสำคัญจะกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 65 นั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขอรอประเมินสถานการณ์ในภาพรวมร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออก ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะมีปัจจัยใดเข้ามาเป็นตัวแปร
“เป้าส่งออกปีหน้า ขอรอประชุมกับ กรอ.พาณิชย์ก่อน ว่าจะประเมินสถานการณ์ หรือต้องเตรียมการกันอย่างไร รอประเมินให้ครบถ้วน เพราะยังไม่รู้ว่าใน 1-2 เดือนนี้ จะมีสถานการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง”
นายจุรินทร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)
Tags: lifestyle, การค้าระหว่างประเทศ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ส่งออกไทย