Decrypto: นิ้วเบียดเสียเกือบ “พันล้าน” !!

เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา “Bitfinex” ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบกิจการในฮ่องกงเกือบสูญเงินเกือบ 800 ล้านบาทเป็นค่าธรรมเนียมในการกดส่งอีเธอเรียม (Ethereum) ที่มีมูลค่าเพียง 3.3 ล้านบาท โดยที่จริงแล้วธุรกรรมดังกล่าวควรเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีการกรอกหรือใส่ข้อมูลบนระบบผิดพลาดโดยมนุษย์ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในโลกดิจิทัลมักเรียกติดตลกว่า “อาการนิ้วเบียด” (Fat Finger) แต่อย่างไรก็ตามนับเป็นโชคดีของ “Bitfinex” ที่สามารถติดตามเอาค่าธรรมเนียมส่วนเกินดังกล่าวกลับมาได้

ข้อผิดพลาด “Fat Finger” หรือการกดโดยไม่ได้ตั้งใจ คือ คำที่ใช้เรียกสถานการณ์ที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์กดปุ่มผิด หรือป้อนข้อมูลผิดพลาดลงไปในคอมพิวเตอร์ อันเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Human Error) มิใช่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากระบบคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างข้อผิดพลาด Fat Finger

มุมมองของกฎหมายไทยต่อกรณีข้อผิดพลาด “Fat Finger” ก็อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีการแสดงเจตนาออกมาภายนอกโดยไม่ตรงกับเจตนาภายในที่แท้จริงของผู้แสดงเจตนา จึงเกิดคำถามว่าควรยึดถือการแสดงเจตนาใด เจตนาที่แสดงออกมาภายนอก หรือเจตนาภายในที่แท้จริง ดังนี้ จึงต้องมีการตีความการแสดงเจตนา

วิธีการตีความเพื่อสืบค้นเจตนาที่แท้จริงนั้นจะพิจารณาเพียงเจตนาที่แสดงออกแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจมีกรณีที่เป็นการพูดผิดหรือเขียนผิด รวมถึงกรณีข้อผิดพลาด “Fat Finger” นี้ด้วย ดังนี้ มาตรา 171 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงได้วางหลักในการตีความการแสดงเจตนาไว้ว่า “ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำ สำนวน หรือตัวอักษร…”

ทั้งนี้ การเข้าถึงเจตนาที่แท้จริงนั้นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้ตีความการแสดงเจตนาได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงแวดล้อมประกอบด้วย ดังนั้น ในการตีความจึงต้องพิจารณาถึงความรู้ ความเข้าใจทางภาษาของผู้แสดงเจตนา การแสดงออกของเขาต่อหน้าบุคคลอื่น ๆ เอกสารที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาของการเจรจา ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างคู่กรณี และปกติประเพณีทางการค้า

เช่น ถ้าผู้แสดงเจตนาเป็นคนชาติสหรัฐอเมริกา และขายสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแวดล้อมประกอบก็อาจสรุปได้ว่าเมื่อเขากล่าวถึงเงินดอลลาร์ เขาย่อมหมายถึงดอลลาร์สหรัฐ (USD) ไม่ใช่เงินดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) หรือเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD)

หรือในกรณีที่มีการบอกราคาผิด เช่น พิมพ์ผิดเสนอขายสินค้าในราคา 100 บาท ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วต้องการขายในราคา 10,000 บาท ในการตีความการแสดงเจตนา ก็อาจต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงแวดล้อมที่ว่าราคาสินค้าในท้องตลาดมีราคาเท่าไรด้วย โดยหากราคาสินค้าในท้องตลาดอยู่ที่ประมาณ 9,000 ถึง 12,000 แล้ว ก็แสดงให้เห็นได้ชัดว่าการเสนอขายที่ราคา 10,000 บาทน่าจะเป็นเจตนาที่แท้จริงมากกว่า 100 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อเท็จจริงอื่นใดที่จะช่วยให้ผู้รับการแสดงเจตนา สามารถเข้าถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้แสดงเจตนาได้ ก็เป็นธรรมดาที่ผู้รับการแสดงเจตนาย่อมจะเชื่อถือเจตนาที่แสดงออกมาภายนอกเป็นสำคัญ เช่น ในกรณีที่ นายแดง (ผู้ขาย) ต้องการขายสินทรัพย์ดิจิทัลในราคา 960,000 บาท แต่พิมพ์ราคาขายผิดพลาดเป็น 690,000 บาท และไม่มีสิ่งอื่นใดให้สงสัยได้ว่าเจตนาที่แสดงออกมาภายนอกต่างจากเจตนาที่แท้จริงภายใน ดังนี้ หากนายเขียว (ผู้ซื้อ) ตกลงสนองรับคำเสนอขายที่นายแดงพิมพ์มาในราคา 690,000 บาท ก็ต้องถือว่าสัญญาซื้อขายสินค้าเกิดขึ้นตามเจตนาที่นายแดงแสดงออกมา หรือตามมาตรฐานที่คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจได้ คือขายในราคาที่พิมพ์มา 690,000 บาท

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการตีความตามมาตรฐานวิญญูชนหรือการตีความทางภาวะวิสัย (Normative or Objective Interpretation) เพื่อป้องกันอาการนิ้วเบียดผู้ทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์จำต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนทุกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาดเพราะไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีได้ทรัพย์สินคืนเหมือนกรณีดังกล่าว

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา
และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top