บ.ร่วมทุน ALT-RATCH ผุดโครงข่ายไฟเบอร์ดึงโอเปอร์เรเตอร์ใช้บริการลดความซ้ำซ้อน

นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) และในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัทสมาร์ท อินฟราเนท จำกัด (SIC) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเช่าโครงข่ายไฟเบอร์ (Fiber Space) กล่าวว่า ในปี 65 จะเป็นปีที่ SIC ขยายการลงทุนโครงข่ายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อต่อยอดและรองรับกับความต้องการใช้ Fiber Space ที่มีศักยภาพเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และรัฐบาลเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปหันมาทำงานที่บ้าน ทำให้มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่ม Data Center

ทั้งนี้ บริษัทมีการเตรียมความพร้อมการหาพันธมิตรเพื่อรองรับการใช้บริการมากขึ้น ทั้ง operators ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยโครงการ Fiber Space เป็นการให้บริการไฟเบอร์พร้อมใช้งานโดยไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน เนื่องจากเป็นการใช้ไฟเบอร์ร่วมกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับลูกค้าและโอเปอร์เรเตอร์ทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งยังทำให้ภูมิทัศน์ของประเทศสวยงาม ไม่มีสายไฟฟ้าพันกันยุ่งเหยิงบนท้องถนน

“การที่มีบริษัท SIC ซึ่งเป็นคนกลางเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ร่วมถือเป็นข้อดี เนื่องจากทำให้โอเปอเรเตอร์มีความสบายใจที่จะมาใช้บริการเช่าโครงข่ายร่วม เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ และที่สำคัญช่วยโอเปอเรเตอร์ลดการลงทุนซ้ำซ้อน เพราะการที่ต่างคนต่างลงทุน ทำให้ต้นทุนแพง และท้ายสุด คนที่แบกรับค่าบริการที่แพงขึ้นก็คือประชาชน

นอกจากนี้ยังทำให้ภูมิทัศน์ของบ้านเมืองมีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึง เพราะแม้แต่ดารานักแสดงระดับโลกอย่าง รัสเซล โครว์ ที่มาเยือนเมืองไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ยังโพสต์ภาพลงในทวิตเตอร์ ถึงสายไฟฟ้าที่พันกันยุ่งเหยิงตามท้องถนนใน กทม.”

นางปรีญาภรณ์ กล่าว

SIC เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) กับ ALT ถือหุ้น 51% และ 49% ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันลงทุนในโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง ทั้งโครงข่ายใต้ดินในพื้นที่เส้นทางหลักในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในต่างจังหวัด ผ่านโครงข่ายตามแนวเส้นทางรถไฟและทางหลวงแผ่นดินสายหลัก ที่มีคลื่นสัญญาณครอบคลุมระยะทางรวม 5,062 กิโลเมตรทั่วประเทศ ถือเป็นโครงข่ายที่ครบวงจร ทั้งโครงข่ายไฟเบอร์ใต้ดิน แนวเส้นทางรถไฟฟ้า แนวเส้นทางรถไฟ แนวสายไฟฟ้าแรงสูง (OPGW) และทางหลวงแผ่นดิน (Highway) ครอบคลุมทั่วประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top