สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เปิดประเทศ 2 สัปดาห์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง” สำรวจระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศเป็นอย่างไร ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 48.11 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 29.85 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 9.62 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ลง ร้อยละ 8.94 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงมาก และร้อยละ 3.48 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก
สำหรับความพึงพอใจต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.88 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 29.09 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 17.04 ระบุว่า ไม่พอใจเลย ร้อยละ 8.64 ระบุว่า พอใจมาก และร้อยละ 2.35 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าจะรุนแรงขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.11 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะมาตรการป้องกันยังไม่เข้มงวด จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ภายในประเทศยังคงสูง และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รองลงมา ร้อยละ 32.50 ระบุว่า กังวลมาก เพราะ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภายในประเทศ อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร้อยละ 15.23 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี และได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับเชื้อโรคโควิด-19 ให้ได้ ร้อยละ 8.86 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ รัฐบาลมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ขณะที่บางส่วนระบุว่า ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว และร้อยละ 0.30 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญของประชาชนระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ (เช่น ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.94 ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก รองลงมา ร้อยละ 27.58 ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ และร้อยละ 13.48 ระบุว่า อะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร
เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจครั้งนี้กับเดือนมิ.ย.2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ และอะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 64)
Tags: นิด้าโพล, ผลสำรวจ, เปิดประเทศ