นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งแคบ เล็งแรงซื้อหุ้นที่ผลงานผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างกลุ่มแบงก์, ICT, สื่อ-บันเทิง, ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ คาดวนกลุ่มเล่นช่วงไร้ปัจจัยใหม่ ด้านตลาดภูมิภาคเช้านี้ส่วนใหญ่รีบาวด์ตามราคาน้ำมัน-Bond yield ชะลอ-ดอลลาร์ทรงตัว หลังตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐออกมาดีกว่าตลาดคาด และโบรกฯใหญ่คาดสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 3/65 พร้อมให้แนวรับ 1,647 แนวต้าน 1,660 จุด
นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดแกว่งแคบ หลังจากวานนี้ตลาดบ้านเราขึ้นสวนทางตลาดหุ้นเอเชีย รับแรงซื้อหุ้นปัจจัยเฉพาะตัว อย่าง TRUE และ DTAC ประเด็นควบรวมกิจการ เป็นต้น และวันนี้มองว่าน่าจะมีแรงซื้อหุ้นที่ผลงานผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/64 ไปแล้ว อย่างกลุ่มแบงก์, กลุ่ม ICT, กลุ่มสื่อ-บันเทิง, กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คงจะมีการวนเล่นหุ้นกลุ่มเหล่านี้ช่วงที่ตลาดฯยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่รีบาวด์ หลังจากราคาน้ำมันดีดกลับขึ้นมาได้เล็กน้อย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ชะลอลง รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็ทรงตัว จากที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯออกมาดี โดยลดลง 1,000 รายมาที่ 268,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.63 และต่ำกว่าที่ตลาดคาด และโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ของสหรัฐก็คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วสุดในไตรมาส 3/65
พร้อมให้แนวรับ 1,647 จุด ส่วนแนวต้าน 1,660 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
– ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (18 พ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,870.95 จุด ลดลง 60.10 จุด (-0.17%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,704.54 จุด เพิ่มขึ้น 15.87 จุด (+0.34%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,993.71 จุด เพิ่มขึ้น 72.14 จุด (+ 0.45%)
– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 42.39 จุด หรือ +0.14%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 385.32 จุด หรือ -1.52% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 1.43 จุด หรือ -0.04%
– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (18 พ.ย.)1,651.02 จุด เพิ่มขึ้น 6.42 จุด (+0.39%)
– นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 755.39 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 พ.ย.64
– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (18 พ.ย.) ปิดที่ระดับ 79.01 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 0.8%
– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (18 พ.ย.) อยู่ที่ 4.27 ดอลลาร์/บาร์เรล
– เงินบาทเปิด 32.58 ตลาดไร้ปัจจัยใหม่ จับตาทิศทาง Flow มองกรอบวันนี้ 32.50-32.65
– ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงเศรษฐกิจไทยหลังโควิด เติบโตลดลงต่อเนื่อง เฉลี่ยไม่เกิน 3% แนะรัฐบาลเร่งปรับปรุงเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยให้ทันสมัย ระบุ 5 ปีที่ผ่านมา แพ้เวียดนามราบคาบ ทั้งภาคการส่งออกและภาคการลงุทนจากต่างชาติ
– ธปท.เตรียมตรวจสอบแบงก์ขายประกันไม่ถูกต้อง ยันห้ามกดดันพนักงาน-กำหนด KPI-เป้าหมายขายผลิตภัณฑ์ ด้านสมาคมประกันวินาศภัยโอดเคลม เจอ จ่าย จบ พุ่งไม่หยุด คาดสิ้นปีแตะ 4 หมื่นล้านบาท
– หอการค้าฟันธงจีดีพีปีนี้โตไม่ต่ำ 1.5% เชื่อมือรัฐบาลคุมโควิดอยู่หมัด การันตีปี 65 เศรษฐกิจพุ่ง 4.2% อานิสงส์ท่องเที่ยวตื่น โกยรายได้ 3 แสนล้านบาท ธปท.ห่วงโครงสร้าง ศก.อ่อนแอลง แนะต่อยอดชูอัตลักษณ์ไทย
– สมาคมโบรกชี้นักลงทุนไทย แห่ลงทุนต่างประเทศ หนุนครึ่งแรกปี 64 มูลค่าลงทุนพุ่ง 2 แสนล้าน รับผลตอบแทนดี ลงทุนบริษัทระดับโลก พร้อมจับมือตลท.พัฒนาสินค้าใหม่เพิ่มเติม ฟาก “บลจ.” แนะกระจายลงทุนหลายสินทรัพย์-ภูมิภาค เหตุนโยบายการเงินปี 65 ผันผวน
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยยอดขายมอเตอร์ไซค์ครึ่งปีหลัง จ่อติดลบ 16% จากครึ่งปี บวกกว่า 19% สะท้อนคนไทยกลุ่มฐานรากยังอ่อนแอจากพิษโควิด พบบิ๊กไบค์-จยย.ไฟฟ้า ขายดีสวนตลาด
– นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือนต.ค.64 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 81,577 คัน เพิ่มขึ้น 14.30% จากเดือนต.ค.63 และเพิ่มขึ้น 10.49% จากเดือนก.ย.64 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 71,410.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.82% จากเดือนต.ค.63 โดยส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดออสเตรเลียลดลง 23.98% และตลาดแอฟริกาลดลง 13.04% ทั้งนี้จากตัวเลขส่งออก 10 เดือนแล้วมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะทะลุเป้า 8.5 แสนคันได้ถึง 8.7 แสนคัน แต่ตอนนี้ยังไม่ปรับเป้า เพราะกังวลเรื่องปัญหาขาดแคลนชิป ขณะที่ยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.64) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 759,058 คัน เพิ่มขึ้น 28.04% และมีมูลค่าการส่งออก 442,421.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.47% จากช่วงเดียวกันของปี 2563
– EPG (กรุงศรี)”ซื้อ”เป้า 16 บาท คาดแนวโน้มกำไร Q3/65 (ต.ค.-ธ.ค.) เติบโตต่อเนื่องจากการเปิดเมืองและปรับขึ้นราคาขายทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์หลัก (ฉนวนฯ, ชิ้นส่วนยานยนต์ และ packaging) หนุนยอดขายและ GPM เพิ่มขึ้น
– JWD (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ”เป้า 23 บาท แนวโน้มกำไร Q4/64 ยังอยู่ในระดับสูงแข็งแกร่งต่อเนื่อง หนุนกำไรปกติทั้งปี 2564 +25% Y-Y ทั้งที่มีล็อกดาวน์ (กำไรสุทธิ +80% Y-Y) ส่วนกำไรปี 2565 ที่คาด +29% Y-Y อาจมี upside จาก Synergy เต็มปีที่ได้จากการลงทุน 6 ดีลในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ESCO, Fuze Post (รุก Cold chain express), MyCloudFulfillment (รุก B2C), Alpha (จับมือกับ ORI) และมีแผนสร้างห้องเย็นเพิ่ม ขยายบริการสู่ธุรกิจ Health connect (Health care Logistic solution) รวมถึงธุรกิจในต่างประเทศโดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชาที่จะฟื้นเร็วหลังโควิด และมีแผน IPO บ.ย่อย (JWD Transport) ราว Q4/65 พร้อมให้แนวรับ 15.60 บาท แนวต้าน 16.40-17 บาท
– RS (เคทีบีเอสที) เป้าเชิงกลยุทธ์ 21 บาท ฟื้นตัวจากสุดต่ำสุดของปี ธุรกิจ Commerce และ Entertainment ฟื้น เม็ดเงินโฆษณาไหลเข้า ด้านราคาหุ้นคาด Bottom out โดย RS อินเทรนด์ ออกเหรียญดิจิตอลโทเคน “Popcoin” สามารถนำมาใช้จ่ายใน Eco System ของกลุ่ม RS คาดปี 65 RS จะกลับมาจัด Event และเปิดตัวสินค้าใหม่ ซึ่งเหรียญนี้จะถูกนำมาใช้งานแพร่หลายขึ้น พร้อมประเมินกำไรสุทธิปี 64-65 ที่ 225 ลบ. และ 576 ลบ. -57.4%YoY, +155.9%YoY ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 64)
Tags: SET, ตลาดหุ้นไทย, ศราวุธ เตโชชวลิต, หุ้นไทย