หุ้น JMT ราคาขยับขึ้น 2.21% มาอยู่ที่ 57.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 155.86 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.00 น. โดยเปิดตลาดที่ 57.75 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 58.25 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 57.50 บาท
บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ตามที่มีรายงานข่าวออกมาว่า แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เตรียมร่วมทุนแบงก์กสิกรไทย (KBANK) จัดตั้ง “บริษัทบริหารสินทรัพย์” ขนาดใหญ่ โดยยื่นขออนุญาตกับ ธปท. แล้ว หากดีลจบเดินหน้าร่วมทุนกับอีก 2 แบงก์ใหญ่ต้นปีหน้าต่อทันที ทั้งนี้รูปแบบบริษัทร่วมทุนเป็นลักษณะที่ KBANK เข้ามาร่วมถือหุ้นใน AMC ด้วยโดย JMT จะถือหุ้นใหญ่สัดส่วนระหว่าง 65-75% และ KBANK สัดส่วนถือหุ้นอยู่ระหว่าง 25-35% โดยจะมีการแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งดีกว่าลักษณะเดิมที่ธนาคารขายหนี้ให้กับ AMC โดยตรง ซึ่งได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ แต่การบริการในรูปแบบร่วมทุนนี้ จะทำให้ผู้ถือหุ้นมีกำไรเพิ่มขึ้น
ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกจากข่าวดังกล่าว หากมีการร่วมทุนในการทำธุรกิจ AMC ระหว่าง JMT และ KBANK จริง โดยประเมินว่าการดำเนินงานในรูปแบบ JV นี้จะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูง เนื่องจาก JMT เป็นผู้ประกอบการ AMC รายใหญ่ที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารหนี้เสียไม่มีหลักประกันที่สูง รวมทั้งมี JMT และ KBANK เคยมีการซื้อขายหนี้เสียในอดีตมาก่อน ทำให้โอกาสที่จะมี conflict น้อยลง และสามารถเจรจาซื้อขายหนี้เสียที่ราคาเหมาะสม
จึงมอง Upside เพิ่มต่อกำไรสุทธิในปี 2565 สำหรับ JMT และ KBANK ที่ 2.3% และ 0.7% โดยได้ทำ sensitivity analysis ทุก ๆ การขาย NPL ที่ไม่มีหลักประกัน 5 พันล้านบาท (เงินลงทุนสินเชื่อทุก ๆ 250 ล้านบาท) และหาก JMT ถือ 70% และ KBANK ถือ 30% จะได้ upside ต่อกำไรสุทธิในปี 2565 ของ JMT ที่ 2.3% หรือคิดเป็นราคาเป้าหมาย 1.00 บาท/หุ้น และได้ upside ต่อกำไรสุทธิในปี 2565 ของ KBANK ที่ 0.7% ตามลำดับ
พร้อมแนะนำ “ซื้อ” JMT ที่ราคาเป้าหมาย 65 บาท สำหรับ JMT มองเป็นบวกมากขึ้น จากการรับรู้ส่วนแบ่งรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประเมินว่า JMT จะยังได้ประโยชน์ในระยะยาวเพิ่มขึ้น จากโอกาสในการเข้าซื้อหนี้เสียที่มีหลักประกันจากธนาคารเพิ่มขึ้น ทำให้ลดความกังวลต่อการหาซื้อหนี้เสียมาบริหารในระยะยาว และรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมในการรับจ้างติดตามหนี้ให้กับ JV เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าหาก JMT ได้ร่วมทุนกับ KBANK สำเร็จก็จะเปิดโอกาสให้ JMT ได้ร่วมทุนกับธนาคารอื่นเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/65 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ แนะนำ “ซื้อ” KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 168 บาท ส่วน KBANK จะได้ประโยชน์ในการเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการในการจัดการและขาย NPL อีกทางให้กับ KBANK นอกจากนี้ยังได้รับส่วนแบ่งจากการขายผ่านการร่วมทุน ทั้งนี้ KBANK มีการขาย NPL ปีละ 5,000-8,000 ล้านบาท ต่อปี ขณะที่ปี 2564 ยังไม่มีการขาย NPL ออกมาเลย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 64)
Tags: JMT, KBANK, ธนาคารกสิกรไทย, บล.เคทีบีเอสที, หุ้นไทย, เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส