น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) เห็นชอบให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการงานเมกะอีเว้นท์ รวม 3 รายการ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEP) เสนอ ประกอบด้วย
1. งาน Expo 2028 Phuket-Thailand ในปี 71
สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket-Thailand มีเป้าหมายเพื่อผลักดันบทบาทของประเทศไทย และภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการให้บริการสาธารณสุขในอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปริบทหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ หากไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน 4.93 ล้านคน เป็นชาวไทย 54% และต่างชาติ 46% สร้างเงินสะพัด 49,231 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตของจีดีพีได้ 39,357 ล้านบาท เกิดรายรับภาษีภาครัฐ 9,512 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 113,439 คน
2. มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี (ระดับ B) ในปี 69
สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อุดรธานี ในปี 69 จะเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีพืชสวนระดับชาติและนานาชาติ ส่งผลให้เกิดการต่อยอดด้านนวัตกรรมการเกษตร การวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) ผลักดันจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรใน GMS และต่อยอดสู่เศรษฐกิจ BCG Model
หากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทย 70% และต่างชาติ 30% สร้างเงินสะพัด 32,000 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตของจีดีพี 20,000 ล้านบาท เกิดรายรับภาษีภาครัฐ 7,700 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 81,000 คน โดยมีระยะเวลาจัดงานรวม 134 วัน ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 69-14 มี.ค. 70 โดยสถานที่จัดงาน คือ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่รวมทั้งหมด 1,030 ไร่
3. มหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา (ระดับ A1) ในปี 72
ส่วนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก นครราชสีมา ในปี 72 นอกจากจะเพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านพืชพันธุ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตพืชสวนแบบครบวงจรของไทย และเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ข้อมูลข่าวสารด้านพืชสวนและการเกษตรกับนานาประเทศแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการกระจายความเจริญ และโอกาสที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ต่อไป
หากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน 2.6-4 ล้านคน เป็นชาวไทย 85% และต่างชาติ 15% สร้างเงินสะพัด 18,942 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตของจีดีพีได้ 9,163 ล้านบาท เกิดรายรับภาษีภาครัฐ 3,429 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 36,003 คน โดยมีระยะเวลาจัดงานรวม 110 วัน ระหว่างวันที่ 10 พ.ย. 72 -28 ก.พ. 73 สถานที่จัดงาน คือ พื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่รวมทั้งหมด 678 ไร่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพการจัดงานเมกะอีเวนท์ดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนา และต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เพื่อรองรับนักเดินทางจากทั่วโลก สร้างการจ้างงานผลักดันการเติบโตของจีดีพี พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านนวัตกรรมการเกษตร การแพทย์ ภาคบริการและภาคท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาหลังการจัดงานให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในระยะยาว
ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพเมกะอีเว้นท์ทั้ง 3 งาน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่าจะสามารถสร้างเงินสะพัดในประเทศไทยรวม 100,173 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตให้จีดีพีได้ 68,520 ล้านบาท สร้างรายรับภาษีให้ภาครัฐ 20,641 ล้านบาท และสร้างการจ้างงาน 230,442 คน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 64)
Tags: TCEP, การท่องเที่ยว, ครม.สัญจร, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, มหกรรมพืชสวนโลก, ไตรศุลี ไตรสรณกุล