นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมกราคม – กันยายน 2564 มีมูลค่า 60,090.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.09% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 57,221.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,869.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 35.10%
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 57,221.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 35.13% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.91% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จีน (มูลค่า 19,691.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) อาเซียน (มูลค่า 19,344.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,255.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 5,229.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 3,528.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (100%) 2) อาเซียน-จีน (96.62%) 3) ไทย-ชิลี (93.76%) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (78.88%) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (70.89%)
สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหารปรุงแต่งและเกษตรแปรรูป อาทิ รถยนต์เพื่อขนส่งของ/บุคคล (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี, อาเซียน-จีน) รถจักรยานยนต์ (ไทย-เปรู) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย) ตู้เย็น (ไทย-อินเดีย) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน) สุกรมีชีวิต (อาเซียน) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง (ไทย-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี) กุ้งปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้ อาทิ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) (ไทย-ชิลี) เป็นต้น
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,869.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 34.57% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 64.65%
ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,560.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 41.88% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 68.27% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 195.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 7.35% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 37.72% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 101.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 1.20% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.37% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 12.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.38% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 64.11%
สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง คือ ถุงมือยาง และสินค้าประเภทอาหารปรุงแต่ง ผลไม้ เครื่องดื่ม อาทิ อาหารปรุงแต่ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส สับปะรดกระป๋อง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง พืชผัก ผลไม้ที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยใช้น้ำตาล ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 64)
Tags: FTA, GSP, กรมการค้าต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, การค้าเสรี, กีรติ รัชโน, สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร