มาทำความรู้จักร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีการรวบรวมรายชื่อ 135,247 แสนรายชื่อ ที่เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16-17 พ.ย.นี้ หลักๆ ประกอบด้วย 4 ข้อเสนอ “ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง”
ในวันนี้คงต้องจับตาการอภิปรายอย่างใกล้ชิด โดยตัวแทนประชาชนที่จะไปนำเสนอร่างฯ อภิปราย และตอบข้อซักถามต่อรัฐสภา นอกเหนือจากนายพริษฐ์ แล้ว ยังมี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน
ล้ม ส.ว.-เดินหน้าสภาเดี่ยว
ปัจจุบัน ส.ว. 250 คน มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี กับ ส.ส. 350 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 เท่ากับว่าประชาชน 38 ล้านคนมีอำนาจกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีแค่ 0.000017% ในขณะที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี 33% มากกว่าประชาชนถึง 19 ล้านคน ดังนั้น กลุ่ม Re-Solution จึงเสนอยุบวุฒิสภา ทำระบบสภาเดี่ยวให้เหลือเพียง ส.ส. 500 ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น
สิ่งที่กลุ่ม Re-Solution เสนอคือ จะเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารแทนที่ ส.ว. เช่น การติดอาวุธรัฐสภา เพิ่มเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. การเพิ่มบทบาทของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น เช่น การให้รองประธานสภาอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมาจากฝ่ายค้าน การให้ที่นั่งประธานคณะกรรมาธิการอย่างน้อย 5 คณะเป็นของฝ่ายค้าน และที่สำคัญคือการติดอาวุธประชาชน ให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจสอบโดย ส.ว. 250 คนชุดปัจจุบัน ดังนั้น ข้อกล่าวหา “เผด็จการรัฐสภา” ตัดทิ้งไปได้เลย
การยุบ ส.ว. ลงไป จะทำให้สามารถประหยัดงบประมาณลงไปได้อย่างน้อยถึง 1 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำมาส่งเสริมเป็นสวัสดิการให้ประชาชนได้ เพราะทุกวันนี้ ส.ว. 250 คน รวมกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยของแต่ละคน ดำรงตำแหน่ง 5 ปี กินเงินเดือนถึง 3,400 ล้านบาทต่อวาระ เมื่อบวกกับค่าสรรหา 1,300 ล้านบาท การมีอยู่ของ ส.ว. หนึ่งวาระ กินงบประมาณของเราไปทั้งหมดอย่างน้อย 4,700 ล้านบาท การโยกงบประมาณนี้มาใช้ส่งเสริมสวัสดิการประชาชนย่อมเป็นผลดีกว่าการมีอยู่ของ ส.ว. เป็นอย่างมาก เงินเกือบ 5 พันล้านบาทนี้สามารถอัดฉีดให้เพิ่มงบอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนได้ถึง 2-3 บาทต่อคนต่อวัน
โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ – ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ โดยให้ ส.ส. เป็นฝ่ายคัดเลือกและรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ จากเดิมที่เคยเป็นอำนาจของ ส.ว. และ เพิ่มการตั้งผู้ตรวจการศาลและองค์กรอิสระ เพิ่มอำนาจให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอถอดถอนได้
กลุ่ม Re-Solution เสนอให้มีโควต้าทั้งจากสถาบันศาลจำนวนหนึ่ง และมีโควต้าจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และโควต้าจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน จำนวนเท่ากัน เพื่อให้มีทั้งผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายและประสบการณ์ในการวินิจฉัยคดี และมีตัวแทนของความแตกต่างทางการเมือง โดยสุดท้ายผู้ที่ลงมติเลือก คือ ส.ส. โดยไม่ใช้เพียงแค่วิธีการ “เห็นชอบ” แต่ให้คนที่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากที่สุดได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และยังต้องได้เสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของ ส.ส. ที่มีอยู่
เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป – ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ ด้วยการยกเลิกมาตรา 65 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดว่ารัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึงยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้อำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศรวมถึงนโยบายต่างๆ เป็นของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
กลุ่ม Re-Solution มองว่า การเขียนบังคับให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญ 2560 มีสถานภาพทางกฎหมายในรัฐธรรมนูญและจะสร้างปัญหาใหญ่ 2 ประการ
1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ไม่คุ้มเสีย : เปล่าประโยชน์ในการออกแบบนโยบาย เพราะการพยายามคาดการณ์ว่าโลกในอนาคต 20 ปีจะเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะมีเจตนาดี แต่ความเป็นจริงคือโลกมีความผันผวนสูง
– กระบวนการการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่มีการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาควิชาการและภาคประชาสังคม
– กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 35 คน มีทหารถึง 11 คน
– ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ เป็นแผนครอบจักรวาลที่จะทำทุกเรื่อง ไม่มีการระบุว่าทรัพยากรจะดึงมาจากไหน เมื่อต้องเจอวิกฤตต่างๆ เช่น วิกฤตโควิดที่คาดการณ์ไม่ได้ก็ไม่มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ดั้งเดิมเพื่อให้ตรงกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เจอ
– คนที่เขียนไม่ต้องรับผิดชอบ หากประเทศเดินไปตามทิศทางของยุทธศาสตร์นั้นแล้วเกิดพังพินาศ เศรษฐกิจไม่โตเหมือนที่คาดไว้ ก็ไม่มีใครต้องรับผิด ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองที่เสนอนโยบาย ที่หากทำไม่ได้ ก็จะโดนลงโทษในสนามเลือกตั้ง
2) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์ : สามารถถูกหยิบยกมากลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเมื่อไหร่ก็ได้ ผ่านการกำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายตรงตามยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่ดำเนินการตาม วุฒิสภาที่ คสช. แต่งตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญที่ ส.ว. เหล่านี้แต่งตั้ง กลไกของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. แต่งตั้ง สามารถรวมตัวกันลงโทษ ล้มรัฐบาลออกจากตำแหน่งได้
ล้าง มรดกรัฐประหาร – หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย ด้วยการเพิ่มหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญ ชื่อว่า “การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร” โดยกำหนดให้การรัฐประหารเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ ประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้าน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะที่ก่อการรัฐประหาร ห้ามศาลวินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร
กลุ่ม Re-Solution มีข้อเสนอเพื่อมุ่งจัดการต้นตอวิกฤตการเมืองไทย ทลายเสาค้ำยันระบอบประยุทธ์ที่ฐานราก คือ
– ยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองให้การใช้อำนาจทั้งหลายของ คสช. และพรรคพวกตัวเองชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถ้าเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องต่อกัน
– ให้ผู้ที่ยึดอำนาจรัฐประหาร 2557 มีความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกได้ทันที
– ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงพิพากษารับรองการรัฐประหาร
– ดำเนินคดีต่อคณะรัฐประหารได้ โดยไม่มีอายุความ
– เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ มีหน้าที่ต่อต้านการยึดอำนาจ ปฏิเสธการทำตามคำสั่งที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 64)
Tags: การเมือง, ประชุมรัฐสภา, พริษฐ์ วัชรสินธุ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ