สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/64 ลดลง 0.3% จากที่ขยายตัว 7.6% ในไตรมาสที่ 2/64 เป็นผลมาจากวิกฤติโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน
ด้านการผลิต ภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง 4.3% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตพืชหลักที่สำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น ด้านการผลิต ภาคอุตสาหกรรมลดลง 2.0% ขณะที่ภาคบริการขยายตัว 0.2% ชะลอลงค่อนข้างมากจากไตรมาสก่อนหน้า
ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน และการลงทุน หดตัว 3.2% และ 0.4% ตามลำดับ ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.1% หลังจากรัฐบาลเร่งพยุงเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ ที่ออกไป โดยในไตรมาสที่ 3 มีเม็ดเงินที่ออกไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ทั้งในส่วนของการรักษาพยาบาล และการพยุงสถานการณ์ ทั้งหมดราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายผ่านการใช้งบประมาณและเงินกู้
ด้านการส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 12.3% และ 27.8% เทียบกับการขยายตัว 27.7% และ 30.3% ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ สำหรับ GDP ที่ปรับปัจจัยฤดูกาล ในไตรมาสที่ 3/64 ลดลง 1.1% จากการขยายตัว 0.1% ในไตรมาสที่ 2/64
“ภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ลดลง 0.3% เป็นผลจากการระบาดที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา และรัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งมาตการควบคุมการระบาดที่ออกมา ทำให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง 3.2% การลงทุนรวม ลดลง 0.4% แต่ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังลงทุนเพิ่ม 2.6% สืบเนื่องจากที่มีการนำเข้าเครื่องจักรวัตถุดิบเพื่อปรับปรุงการผลิต” นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุ
ขณะที่เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 1.3% เทียบกับการหดตัว 6.8% ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ขยายตัว 2.3% 3.6% และ 0.0% ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 64)
Tags: GDP, lifestyle, จีดีพี, สภาพัฒน์, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เศรษฐกิจไทย